News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

ถกสภายางนา-ขี้เหล็ก จี้ให้บังคับใช้ประกาศคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเข้มข้นตลอดทั้งถนนสายต้นยาง ยื่นข้อเสนอให้ อบจ.เชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพหลักพร้อมแนะจ้างเอกชนมาดูแล พ่อเมืองเชียงใหม่นั่งหัวโต๊ะชี้คนแก้ปัญหาต้องรู้จริง ประชาชนตลอดทั้ง 2 ฝั่งถนนต้องมีส่วนร่วมอย่างมี

 



วันที่ 29 มี.ค. 62 ที่ห้องประชุมแสนแคง โรงเรียนเวฬุวัน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ ภาคเอกชน ในนาม “สภายางนา-ขี้เหล็ก” เปิดเวทีสภาฯ ครั้งที่ 2 โดยมี นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดเวทีฯ พร้อมกับให้คำแนะนำว่า ปัญหาต้นยางนาคนวินิจฉัยต้องรู้จริง วินิจฉัยได้ถูกต้อง พร้อมกับขยายองค์ความรู้ให้ผู้คนเกิดความเข้าใจกว้างมากยิ่งขึ้น สำหรับวิธีแก้ต้องวางแผนให้ชัดจะอะไรทำได้ก่อนหลังเป็นระยะๆ ไม่ควรรอช้า ทุกหน่วยต้องมาคิดร่วมกัน ทั้งแขวงทางหลวง ทสจ. ท้องถิ่น ชุมชน คิดร่วมกัน แต่ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ต้องนำกรอบกฎหมายระเบียบที่มีอยู่มาบังคับใช้ ถ้าแขวงทางหลวงยังไม่รู้เรื่องนี้ ก็ต้องเชิญหน่วยงานที่มีความรู้มาให้ครบองค์กรเพื่อที่จะมีส่วนรับผิดชอบ จุดไหนทำอะไรได้ก่อนหลังตลอดเส้นทางที่มีต้นยางนาเกือบพันต้น



“อีกประการการดูแลยางนาลำพังหรือลำพังคนที่มาคุยกันวันนี้คงดูแลไม่ได้ทั้งหมด ต้องให้ทุกคนที่อยู่ตลอดถนนเชียงใหม่-ลำพูนเส้นทางนี้มีส่วนร่วม มีความตระหนักในการจะทำให้ต้นยางนาอยู่อย่างยั่งยืน เจ้าภาพหลักต้องมีในแต่ละด้านและพื้นที่นั้นๆ ต้องเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่คนหนึ่งดูแลอีกกลุ่มแอบทำลาย ต้องให้ทุกคนรู้สึกหวงแหนและมีความสุขที่ได้ทำด้วย” ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว



ในส่วนเวทีสภายางนา-ขี้เหล็ก ครั้งที่ 2 ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า เนื่องจากต้นยางนาและขี้เหล็กบนถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในสภาพวิกฤต ภาคประชาชนและนักวิชาการจึงใคร่ขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้ ภารกิจแรก ภารกิจเร่งด่วน ขอให้ดำเนินงานภายใน 1 เดือน โดยเสนอให้คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลฯ ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจอย่างเร่งด่วน เพื่อจัดทำ Action plan ภายใน 1 เดือน ที่มีแผนรายละเอียดครอบคลุมทั้งระบบรากและการดูแลกิ่งด้านบน รวมทั้งงบประมาณ เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ และกำลังคน เพื่อฟื้นฟูต้นยางนา-ขี้เหล็กที่มีสถานะต้องรักษาฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนสำหรับต้นยางนาและต้นขี้เหล็กทุกต้น 



พร้อมกันนี้ให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยของประชาชน โดยเร่งจัดการเรื่องประกันอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับต้นยาง-ขี้เหล็ก เช่น การประกันภัยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เป็นต้น มีการปรับระบบกลไกการจัดการให้ชัดเจนทั้งการปลูก การรักษาฟื้นฟู การตัด การใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ที่ตัดแล้ว การจัดการกับตอไม้ที่ตัดไปแล้ว



ด้านมาตรการด้านความปลอดภัยของต้นยางนา ให้มีการสำรวจต้นยางนา-ขี้เหล็กที่มีสภาพวิกฤตอย่างด่วนภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมทำข้อมูลแนวทางและวิธีการฟื้นฟูรักษา เพื่อเสนอคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ อนุมัติให้มีการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน ก่อนเข้าสู่ช่วงพายุฤดูร้อน และเสนอให้จังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งงบประมาณและแผนงานรื้อถอนคอนกรีตไหล่ทางจากขอบจราจรสีขาวถึงเขตทางออกตลอดสายทั้งสองด้าน เพื่อเตรียมการฟื้นฟูระบบรากในลำดับต่อไป



สำหรับภารกิจที่ 2 เป็นภารกิจต่อเนื่อง ให้มีการจัดทำรายละเอียดแผนภายใน 6 เดือน โดยเสนอให้คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนแม่บท โดยปรับปรุงจากแผนฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจังหวัดเชียงใหม่ ที่เคยจัดทำขึ้นเมื่อปี 2558 ทั้งนี้ได้เสนอให้แผนแม่บทต้องมีรายละเอียดในการสร้างการมีส่วนร่วม ออกแบบกระบวนการ จัดเวทีสาธารณะ และอื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งพิมพ์เขียวของถนนยางนา-ขี้เหล็กที่ครบทุกมิติ ให้ทุกภาคส่วนเห็นภาพระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างชัดเจน การออกแบบแผนการจัดการถนนยางนา-ขี้เหล็กทั้งระบบ (งาน เงิน คน) และแหล่งงบประมาณ โดยการระดมจากหลายๆ ภาคส่วน



เมื่อได้แผนแม่บทแล้ว ให้เสนอแผนดังกล่าวข้างให้รัฐบาลดำเนินการ ควบคู่กับการเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาขีดความสามารถของท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน เมื่อแผนแม่บทดำเนินการเสร็จ รัฐควรต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการ ผ่านองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และผ่านกองทุนยางนา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง



พร้อมกันนี้ เวทีสภายางนา-ขี้เหล็ก ยังเสนอให้พัฒนากลไกร่วมทั้งแผนงานและงบประมาณในพื้นที่ ทั้งส่วนของอำเภอ อปท. ทสจ. เครือข่ายอาสา โดยให้มีการออกตรวจตราการไม่ดำเนินการตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่ตำบลวัดเกต ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลหนองผึ้ง ตำบลยางเนิ้ง

และตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และในท้องที่ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2558 อย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง



นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการเผยแพร่ความรู้ และกระบวนการจัดการต้นยางนา ถ.เชียงใหม่-ลำพูนแก่สาธารณะ โดยเสนอให้ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ หมอต้นไม้อาสา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เครือข่ายเขียวสวยหอม สื่อมวลชน ฯลฯ  ร่วมกันเผยแพร่ความรู้ ทำความเข้าใจกับประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ ทั้งนี้ควรจัดให้มีการสื่อสารสาธารณะตลอดเวลาในทุกมิติ และเสนอให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพผลักดันหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อพัฒนาคนในพื้นที่



ในส่วนงานที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ เวทีเสนอให้ อบจ.เชียงใหม่ ดำเนินงานจัดจ้างบริษัทดูแลต้นยางนาตามแนวทางดังนี้ ดำเนินการตามวงจรการบริหารจัดการต้นไม้ริมถนน (Street trees management cycle) โดย จัดจ้างบริษัทภาคเอกชน โดยการประมูลไม่ใช้ราคากำหนด แต่ให้ประมูลโดยการเสนอผลงานและแนวทางปรับปรุงแก้ไขต้นไม้ริมถนน หากผลงานดีขยายเวลาจ้างต่อ เป็นต้น และให้แต่ละบริษัทมาอบรมและประกวดตัดแต่งต้นไม้พร้อมกัน คัดเลือกต้นไม้ที่ตัดแต่งดีที่สุดและใช้ต้นนั้นเป็นมาตรฐานหรือแบบในการตัดแต่งต่อไป นอกจากนี้มีการประชุมทุกเดือนกับบริษัทเพื่อพิจารณาแต่ละฤดูกาลควรจะดูแลรักษาต้นไม้อย่างไร



พร้อมกันนี้ให้บูรณาการองค์ความรู้ในการพัฒนาท้องถิ่นมิติต่างๆ ที่ได้มีการศึกษาวิจัยอยู่แล้ว เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนบนถนนหลวงสาย 106 เชียงใหม่-ลำพูน อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การจัดเวทีร่วมเพื่อนำผลวิจัยจากชุดโครงการท้าทายไทย โดยมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาบูรณาการกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั้งแผนงานและงบประมาณ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่รอบด้านทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2562 16:44:18 น. (view: 5805)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง