News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
เปิดโครงการรับสมัคร "ผู้ขออนุญาตปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์" ซึ่งเป็นวันแรกที่กฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp)
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานเปิดโครงการรับสมัคร "ผู้ขออนุญาตปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์" โดยกล่าวว่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ประสบความสำเร็จในการศึกษาวิจัยและพัฒนาลูกผสมสายพันธุ์อิสระ-01 จนได้สายพันธุ์กัญชาและสายพันธุ์กัญชง ทั้งนี้ยังเป็นหน่วยงานอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ที่มีความสนใจในการปลูกพืชกัญชง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการปลูกพืชกัญชงในเชิงพาณิชย์ ให้สามารถต่อยอดสู่การแปรรูปในอุตสาหกรรมด้านเส้นใย อาหาร เครื่องดื่ม เวชสำอาง และทางการแพทย์ได้ นับเป็นโอกาสอย่างมากในการพัฒนาพืชกัญชงเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ด้านศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่าตามที่ อย. ได้ประกาศกฏกระทรวงฯ การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เฉพาะกัญชง (Hemp) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 มกราคม 2564 ทางศูนย์ฯ จึงจัดโครงการนี้เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ข่าวสาร และความเข้าใจที่ถูกต้องในกระบวนการยื่นขอใบอนุญาตปลูกกัญชง ณ บริเวณฐานเรียนรู้แปลงปลูกกัญชาอินทรีย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ผ่านมาทางศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติมหาวิทยาลัยแม่โจ้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับพืชกัญชง-กัญชา ถึงความแตกต่างและเทคนิคการปลูกการดูแลรักษาภายใต้ชื่อโครงการอบรม “กัญชงเชิงพาณิชย์(รับรองประกาศกฎกระทรวงใหม่)” ผ่านมาแล้วเป็นจำนวน 5 รุ่น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมกลุ่มเกษตรกร บุคลคล นิติบุคคล ในการผลิตกัญชงเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นใย (Hemp Fiber) เพื่อผลิตน้ำมันจากเมล็ด (Hemp Seed Oil) และ ผลิตสารสำคัญ CBD
ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับการประสานงานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ดำเนินการเป็นสถานที่รับสมัครผู้ที่มีความประสงค์ยื่นขออนุญาตปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ เป็นรอบปฐมฤกษ์ของภาคเหนือตอนบน จึงเป็นที่มาของการจัดโครงการรับสมัคร "ผู้ขออนุญาตปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์" ซึ่งเป็นวันแรกที่กฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เฉพาะกัญชง (Hemp) ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ประชาชนทั่วไปจะสามารถยื่นขอใบอนุญาตปลูกได้ด้วยตนเองที่ สสจ. จังหวัด (ต่างจังหวัด) และ อย. (กรุงเทพฯและปริมณฑล)
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับอนุญาตปลูกกัญชาสายพันธุ์อิสระ-01 โดยได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาลูกผสมสายพันธุ์ สามารถจำแนกได้เป็น 9 สายพันธุ์ ซึ่งสามารถแยกกลุ่มของสายพันธุ์ได้ 2 กลุ่ม คือ สายพันธุ์ MJU-01 ถึงสายพันธุ์ MJU-03 ซึ่งมีปริมาณสาร THC สูง ลักษณะเป็นกัญชา และสายพันธุ์ MJU-04 ถึงสายพันธุ์MJU-09 ซึ่งมีปริมาณสาร THC ที่ตำกว่าร้อยละ 1 โดยน้ำหนักแห้ง หลังจากนั้นได้ทำการศึกษาสายพันธุ์กัญชงของ สวพส. สายพันธุ์ RPF 1-4 ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยจะทำการรอบรมส่งเสริมการปลูก “กัญชง” เชิงพาณิชย์ (รุ่น 6) ตั้งแต่วันที่ 8-19 กุมภาพันธ์ 2564 นี้
เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2564 16:31:42 น. (view: 10337)