News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

ม.แม่โจ้ สร้างผลงาน / นวัตกรรม ร่วมต้านภัยโควิด – 19



1. นวัตกรรมซิลเวอร์นาโน ฆ่าเชื้อโควิด -19  

ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค ซิลเวอร์นาโน ผลงานวิจัยของ รศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสารชีวภัณฑ์ “ซิลเวอร์นาโน” ที่มีประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อโรค   ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ ผลิตจากโลหะเงินที่มีความบริสุทธิ์ 99.99% ด้วยเทคโนลียีนาโนทำให้มีอนุภาคขนาดเล็กจิ๋ว ซึ่งเป็นเพิ่มประสิทธิภาพในการสัมผัสเชื้อโรคได้ดียิ่งขึ้น ทำให้สามารถฆ่าเชื้อโรค หรือ ป้องกันเชื้อโรค ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้รับการยอมรับในการคำความสะอาดเครื่องมือผ่าตัด รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศทั้งยุโรปและอเมริกา  มีความปลอดภัย ไม่มีฤทธิ์กัดกร่อนผิวหนัง และพื้นผิวที่สัมผัส ใช้ได้กับทุกพื้นผิว ทุกพื้นที่ สัมผัสร่างกายได้ มีประสิทธิภาพคงอยุ่ได้นาน 7-14 วัน  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัย แม่โจ้ Line ID : @mju-ic  หรือโทร. 0 5335 4139, 0 5387 5999, 09 3186 8333



2. ผลิตภัณฑ์เม็ดยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรสกัด ด้วยนวัตกรรม BIO-Botanical Dynamic Technology ปลอดภัย ออกฤทธิ์เร็ว  

ผลิตภัณฑ์เม็ดยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรสกัด แอนโดร ประกอบด้วยสารสำคัญในสมุนไพรฟ้าทะลายโจร คือ สารออกฤทธิ์สำคัญในกลุ่ม lactone คือ สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) และสารออกฤทธิ์ชนิดอื่น ๆ ทำให้มีฤทธิ์ทางชีวภาพหลากหลาย เช่น ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบในทุกระบบของร่างกาย กระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย ส่งเสริมการต้านไวรัสในร่างกาย เป็นต้น ซึ่งเป็นผลงานวิจัย ของรองศาสตราจารย์ ดร.ฐิติพรรณ ฉิมสุข นักวิจัยและอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับบริษัท เอฟแอนด์บีออแกนิคส์ จำกัด  ได้ผลิตและพัฒนาด้วยนวัตกรรมการสกัดที่ปลอดภัยและปราศจากสารเคมี 100 %  หรือ BIO-Botanical Dynamic Technology  เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับสกัดสมุนไพร ที่มีจุดเด่นคือ สามารถเก็บสารอาหาร สารออกฤทธิ์สำคัญในสมุนไพร ไว้ได้ครบถ้วน ตั้งแต่น้ำมันหอมระเหยและกลิ่น  ง่ายต่อการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและออกฤทธิ์ได้เร็ว ผลิตด้วยนวัตกรรมการสกัด    ที่ใช้น้ำผึ้งเป็นน้ำกระสายยาในการสกัด  ปราศจากเชื้อราและแบคทีเรีย        เนื่องด้วยมีการควบคุมผลิตภัณฑ์ให้มีความชื้นต่ำกว่าที่จุลชีพจะเจริญได้  

นวัตกรรมดังกล่าวได้รับรางวัลการันตีจากหลายเวที เช่น รางวัลเหรียญทอง นวัตกรรมระดับนานาชาติ  TISIAS 2020 ประเทศแคนาดา, รางวัลเหรียญทอง นวัตกรรมระดับนานาชาติ  Archimedes 2020 ประเทศ รัสเซีย รางวัลเหรียญทอง KIWIE2018 ประเทศเกาหลีใต้



3. กำจัดหน้ากากอนามัย-ขยะติดเชื้อทางการแพทย์ ได้พลังงานไฟฟ้า ลดมลภาวะ สร้างพลังงานทดแทน

"ระบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์" ต้นแบบนวัตกรรมสัญชาติไทยเครื่องแรก ที่ใช้เทคนิคการผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมกับการกำจัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ระบบแรกของประเทศไทย ผลงานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.นัฐพร ไชยญาติ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวโรจน์ ใจสิน อาจารย์ประจำวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้และทีมงาน โดยได้ลงนามความความร่วมมือกับบริษัทเอกชน จำนวน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท นำวิวัฒน์การช่าง (1992) จำกัด , บริษัท ทานิตะ แฟบริเคชั่น จำกัด และ บริษัท 89 อินเวนชั่น แอนด์ ไอเดีย จำกัด ในการสนับสนุนทุนวิจัยและส่วนอื่น ๆ ที่ เกี่ยวข้อง

ระบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์ เครื่องนี้เป็นเครื่องต้นแบบขนาดเล็ก มีอัตราการเผาไหม้เชื้อเพลิงขยะติดเชื้อประมาณ 250 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ด้วยการนำขยะติดเชื้อทางการแพทย์ที่ผ่านการบำบัดด้วยเทคนิคบด ย่อย และฆ่าเชื้อด้วยความร้อน มาใช้เป็นเชื้อเพลิงและถ่ายเทความร้อนจากกระบวนการเผาไหม้ให้แก่น้ำสะอาด ซึ่งนวัตกรรมการถ่ายเทความร้อนภายในห้องเผาไหม้โดยตรงให้แก่ของไหลสะอาด ถือได้ว่าเป็นต้นแบบเตาเผาขยะเครื่องแรกของประเทศไทยอีกด้วย จากนั้นนำความร้อนที่ได้จ่ายให้แก่วัฏจักรแรงคินสารอินทรีย์เพื่อผลิตไฟฟ้า และทำให้ได้พลังงานไฟฟ้าสุทธิประมาณ 20 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือ 20 หน่วยไฟฟ้า และจากการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า การกำจัดขยะติดเชื้อ 1 กิโลกรัม มีต้นทุนโดยเฉลี่ยตลอดโครงการเพียง 3.185 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมต้องจ้างขนขยะติดเชื้อทางการแพทย์ไปกำจัดกิโลกรัมละประมาณ 10-15 บาท ขึ้นกับระยะทางของโรงพยาบาล รวมทั้งมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยเฉลี่ยตลอดโครงการ 3.302 บาทต่อหน่วย ที่สำคัญสามารถควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ปัจจุบัน “ระบบต้นแบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์” ได้รับการขยายผลต่อยอดเชิงพาณิชย์และใช้งานจริงในโรงพยาบาลและหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง  และได้พัฒนาต่อยอดเพื่อใช้กับขยะทั่วไปอีกด้วย ผลงานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นอีกทางเลือกในการช่วยแก้ปัญหาการกำจัดขยะซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะติดเชื้อจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วแล้วทิ้งที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องใช้ทุกวัน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19

เขียนเมื่อ 09 กุมภาพันธ์ 2564 14:14:05 น. (view: 10336)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง