News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
เชียงใหม่ชี้แจ้ง ผลการดำเนินการ Kicked off รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19
วันที่ 2 มีนาคม 2564 นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายแพทย์วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ ร่วมแถลงข่าว ยืนยันการฉีดวัคซีนโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ไม่มี VIP กลุ่มที่ได้รับการฉีดเป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 73 คน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่รัฐอื่นที่(ด่านหน้าที่มีความเสี่ยง) อสม. หน่วยงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยว จำนวน 67 คน
นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ ในการนำเสนอประเด็นต่างๆ ในคณะกรรมโรคติดต่อจังหวัด ก็มีการพิจารณาร่วมกัน ซึ่งการบริหารจัดการวัคซีนกับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มเราได้มีการบริหารจัดการตามแนวทางสาธารณสุข ของรัฐบาลแล้ว ซึ่งก็ได้ให้อำนาจกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก็ได้มีการประชุมพิจารณาร่วมกัน โดยมีการบริหารจัดการเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1. ในเรื่องของความเสี่ยงของบุคคล ซึ่งก็คือบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วย 2. สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้โรค 3.กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ และผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี นอกเหนือจากนั้นก็เป็นกลุ่มของบุคคลทั่วไปและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ส่วนที่สอง คือกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งทางคณะกรรมการโรคติดต่อก็มีความเห็นร่วมกันว่าจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.พื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่อำเภอชั้นในของจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย แม่ริม, สันกำแพง, หางดง, สารภี และสันทราย รวม 6 อำเภอ 2.กลุ่มแนวชายแดน ประกอบด้วย 5 อำเภอ คือ เชียงดาว, ฝาง, ไชยปราการ, กัลยาณิวัฒนา และเวียงแหง และที่เหลืออีกเหลือก็เป็นการบริหารจัดการอีกกลุ่มหนึ่ง
ดังนั้น ตั้งแต่มีการให้วัคซีนเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 64 เป็นการทดสอบและคลิกออฟการให้วัคซีนกับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มที่โรงพยาบาลนครพิงค์ จะเห็นว่า ประการแรกเป็นการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ประการที่สองทำให้เห็นว่าขั้นตอนของการให้วัคซีนกลุ่มเป้าหมายมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และมีตัวแทนของหน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 , รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และที่เหลือก็เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งนับตั้งแต่วันนี้ พรุ่งนี้และต่อเนื่องไปจนหมดวัคซีนในล็อตที่ 1 ที่มีจำนวน 3,500 โด๊ส และคนหนึ่งใช้ 2 โด๊ส รวมคนที่จะได้รับวัคซีนในล็อตแรก จำนวน 1,750 คน ซึ่งจะใช้กับผู้นำปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 1,750 คน ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีน ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน ที่มีกลุ่มเป้าหมายกำหนดไว้แล้ว ซึ่งล็อตแรกวัคซีนที่ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ก็จะมีการฉีดเป็นห้วงเวลา คงยังไม่ได้ฉีดให้ทั้งหมดเพราะวัคซีนมีไม่พอ แต่เมื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ครบหมดแล้ว จากนั้นก็จะไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคคล และกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่ ก็จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครบทุกคน ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีประชากรทั้งหมด 1.6 ล้านกว่าคน เมื่อหักจำนวนผู้ตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีแล้ว ก็จะเหลือประมาณ 1.2 ล้านกว่าคน ก็คาดว่าจะใช้วัคซีนถึง 2.5 ล้านโด๊ส เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมของจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะใช้เวลา 180 วันในการดำเนินการ ทางรัฐบาล และจังหวัดเชียงใหม่ จะดำเนินการให้ไปไปตามกรอบแนวทางทุกประการ ขอให้สบายใจได้
ทางด้าน นายแพทย์วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ กล่าวว่า จากการจังหวัดเชียงใหม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของซิโนแวค ในเดือนมีนาคมจำนวน 3,500 โดส เนื่องจากวัคซีนทยอยมาเป็นล็อตๆ จึงไม่สามารถฉีดให้แก่กลุ่มเสี่ยงทั้งหมดคราวเดียวได้ โดยพิจารณาจาก กลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง (อำเภอเมืองและอำเภอปริมณฑล ร้อยละ 50 , อำเภอชายแดน 5 อำเภอร้อยละ 20 , อำเภอที่เหลือ 14 อำเภอ ร้อยละ 30) และ ผู้ป่วยเรื้อรัง การกระจายวัคซีน ใช้ตามเกณฑ์พื้นที่เสี่ยง ส่วนกลุ่มโรคและความเสี่ยงแต่ละกลุ่มให้ยึดตามเกณฑ์ที่คณะทำงานวิชาการกำหนด
ทางจังหวัดเชียงใหม่ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการ Kicked off เริ่มรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 จังหวัดเชียงใหม่ รอบแรกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 จากยอดที่ได้รับ 1,750 คน (3,500 โด๊ส) ได้จัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ 1,450 คน ได้ส่งมอบวัคซีนให้ โรงพยาบาลต่างๆ ตามสัดส่วน ทั้งนี้ผลการดำเนินการฉีดวัคซีนวันแรก ได้ดำเนินการฉีดไปแล้วจำนวน 140 คน แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 73 คน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่รัฐอื่นที่(ด่านหน้าที่มีความเสี่ยง) อสม. หน่วยงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยว จำนวน 67 คน
สำหรับวัคซีนล็อตต่อไปของจังหวัดเชียงใหม่ มีแผนการฉีดอีกครั้งในรอบเดือนเมษายน จำนวน 32,000 โด๊ส (16,000 คน) และรอบเดือนพฤษภาคม จำนวน 48,000 โด๊ส (24,000 คน) โดยจะฉีดให้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ทั้งรัฐและเอกชน เจ้าหน้าที่รัฐอื่นที่(ด่านหน้าที่มีความเสี่ยง) ผู้ป่วยเรื้อรัง ประชาชนและแรงงาน (เกี่ยวกับการท่องเที่ยว)
ระยะแรกโรงพยาบาลจะติดต่อกลุ่มเป้าหมายให้รับวัคซีนตามความสมัครใจก่อน จากนั้นจะประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเสี่ยงลงทะเบียนเลือกวัน เวลา สถานที่ฉีดผ่านไลน์หมอพร้อมต่อไป สำหรับประชาชนที่ไม่มีสมาร์โฟน สามารถลงทะเบียนได้ที่ สสอ. และรพ.สต. หรือสถานบริการสาธารณสุขในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ทุกแห่ง แต่หากตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับวัคซีน แต่ไม่มีรายชื่อให้ติดต่อโรงพยาบาลที่รักษาและขอลงทะเบียนเพิ่มเติม สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าในไลน์หมอพร้อมได้ แต่จะยังไม่มีรายชื่อเป็นผู้ได้รับวัคซีน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โทร 053-211048-50
เขียนเมื่อ 02 มีนาคม 2564 17:52:29 น. (view: 10336)