News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

เชียงใหม่เปิดปฏิบัติการ “รวมพลังอาสาดับไฟเพื่อลมหายใจของคนเชียงใหม่” รองพ่อเมืองลงพื้นที่ อ.ฮอด เป็นประธานปล่อยแถว หวังลด Hot Spot ให้ได้ เพื่อให้ค่าคุณภาพอากาศขยับดีขึ้น

 



วันที่ 9 มีนาคม 2564 บริเวณลานหน้าที่ว่าการอำเภอฮอด จ.เชียงใหม่ นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “รวมพลังอาสาดับไฟเพื่อลมหายใจของคนเชียงใหม่” ประจำปี พ.ศ. 2564 โดยมี นายสิทธิ์ วงศ์ม่าน นายอำเภอฮอด นำหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอฮอด นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง หัวหน้าหน่วยงานป่าไม้ในพื้นที่ทุกหน่วยงาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ และ ชุดอาสาดับไฟป่าประจำหมู่บ้าน กว่า 600 คน ร่วมกิจกรรม



นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมเช่นนี้ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งจัดพร้อมกันทั้ง 25 อำเภอ สืบเนื่องจากสถานการณ์หมอกควันไฟป่าที่แม้ว่าในปีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ที่ผ่านมา จะลดลง แต่ค่าคุณภาพอากาศก็ยังค่อนข้างสูง ซึ่งสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนจากการมอง ค่า PM2.5 มีค่าที่สูง ประกอบกับจุดความร้อนหรือจุด Hot Spot สูงเช่นกัน ในวันนี้ (9 มี.ค.) จ.เชียงใหม่ มีจำนวนจุดความร้อนมากถึง 211 จุด สำหรับพื้นที่ อ.ฮอด เกิดขึ้นจำนวน 26 จุด



“การบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นควันของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 64 เป็นต้นมา ได้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงไปแล้วส่วนหนึ่ง โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือ โซนใต้ และโซนเหนือ ในพื้นที่โซตใต้ได้หยุดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงไปแล้ว แต่ว่าจุดความร้อน และเกิดการเผาไหม้ซึ่งเป็นภาพจากดาวเทียมปรากฏที่ศูนย์บัญชาการฯ อย่างต่อเนื่องนับแต่ที่ไม่ให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ในขณะเดียวกันในพื้นที่อำเภอโซนเหนือก็มีจุดความร้อนมีการเผาไหม้เช่นกัน” รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว



นายรัฐพลฯ กล่าวอีกว่า ยเหตุปัจจัยที่ยังมีจุดความร้อนเกิดขึ้นมากมายเช่นนี้เองจึงเป็นเหตุที่ทำให้จังหวัดเชียงใหม่ต้องจัดให้มีกิจกรรมที่จะสร้างความเข้าใจ สร้างความร่วมมือให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นในระดับพื้นที่ในทุกอำเภอ นอกจากนี้ยังจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าเชียงใหม่เองยังมั่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันอย่างต่อเนื่องถึงในระดับพื้นที่



“สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือเรื่อง ลม สภาพอากาศ ที่สามารถพัดพาเอาฝุ่นละอองจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง แม้ว่าบางพื้นที่แทบจะไม่มีจุดความร้อนแต่ค่าฝุ่นละอองมีค่าที่สูงมาก ประการนี้เป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้ซึ่งต้องยอมรับ แต่เรื่องที่ระดับพื้นที่ต้องทำคือ การบริหารจัดการจุดความร้อนในพื้นที่ กล่าวคือ เมื่อเกิดจุดความร้อนในพื้นที่ต้องเร่งดำเนินการควบคุม ต้องเข้าไปเร่งดับโดยเร็ว ซึ่งเป็นช่วงของการแก้ไขปัญหา และต่อไปก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ประการนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ เป็นการสร้างจิตสำนึกให้แก่พี่น้องประชาชนในการที่จะให้ตระหนักถึงสิ่งที่จะกระทบต่อสุขภาพ” นายรัฐพล นราดิศร รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว



ด้าน นายสิทธิ์ วงศ์ม่าน นายอำเภอฮอด กล่าวว่า การจัดกิจกรรมนี้อำเภอฮอดได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนทั่วไป และชุดอาสาดับไฟป่าประจำหมู่บ้าน ให้มีส่วนร่วมในการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันอย่างเข้มงวด เพื่อให้สามารถลดปัญหาดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะดำเนินการตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในการบริหารจัดการควบคุมไฟป่าและจุดความร้อน ซึ่งวางแนวทางว่า หากพบจุดความร้อนในพื้นที่ให้ประสานและสนับสนุนชุดอาสาดับไฟป่าประจำหมู่บ้านในการจัดเตรียมอุปกรณ์ดับไฟ อาหารและเครื่องดื่ม ในการปฏิบัติภารกิจเข้าดับไฟ แบ่งภารกิจชุดอาสาดับไฟป่าประจำหมู่บ้าน เข้าไปในพื้นที่เกิดจุดความร้อน (Hotspot) และให้ชุดอาสาดับไฟป่าประจำหมู่บ้านรายงานตัวก่อนเข้าปฏิบัติงาน และรายงานผลการปฏิบัติงานในทุกครั้ง



เสร็จสิ้นการประชุม นายสมคิด ปัญญาดี ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ได้ประชุมร่วมระหว่าง ปลัดอำเภอฮอด เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าในพื้นที่ทั้งที่สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 และสำนักจัดการป่าไม้ที่ 1 เพื่อแบ่งพื้นที่การออกปฏิบัติงานในการเข้าควบคุมจุดความร้อนทั้ง 26 จุด ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.ฮอด โดยให้เจ้าหน้าที่ไฟป่าบูรณาการนำอาสาสมัคร ผู้นำท้องที่ และราษฎรในพื้นที่ที่เกิดจุดความร้อนทั้ง 26 จุด

เขียนเมื่อ 09 มีนาคม 2564 15:45:57 น. (view: 10336)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง