News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
กรมอนามัย เตือน ใช้ก๊าซหุงต้มปรุงอาหารบนโต๊ะในสถานที่จำหน่ายอาหาร ผิดกฎหมาย
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย สถานที่จำหน่ายอาหารที่ใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงในการปรุงอาหารบนโต๊ะอาหาร ผิดกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 และผิดตามข้อบัญญัติท้องถิ่นหากมีกำหนดไว้ เช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2545
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีเหตุเตาแก๊สปิกนิกแบบใช้ก๊าซ อัดกระป๋องระเบิดในร้านหมูกระทะบุฟเฟ่ต์แห่งหนึ่งที่ตลาดนัดเลียบด่วนรามอินทรา ส่งผลให้ลูกค้าที่กำลังนั่งกินได้รับบาดเจ็บ 1 ราย นั้น เนื่องจากเตาแก๊สแบบกระป๋องเป็นกระป๋องที่ใส่ด้านล่างของเตาและเมื่อจุดเตาทำให้มีความร้อนก็จะมีความเสี่ยง เนื่องจากความร้อนด้านบนเปิดแบบรุนแรงเกินไปก็จะส่งผลให้เกิดความร้อนสะสมที่กระป๋องก๊าซ LPG ด้านล่าง และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ความร้อนสูงพอจนถึงจุดก๊าซ LPG รวมทั้งเป็นการไหม้ในกระป๋อง ก็จะเกิดการติดไฟและระเบิด จึงไม่ปลอดภัยในการใช้แก๊สบนโต๊ะอาหาร
“ทั้งนี้ การใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหารบนโต๊ะหรือที่รับประทานอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหารมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายและไม่ปลอดภัยต่อสถานประกอบการ ผู้มาใช้บริการ รวมทั้งเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหารปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 โดยบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2561 ในเรื่องการควบคุมสุขลักษณะสถานที่ขาย ข้อ 17 ห้ามใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงในการปรุงอาหารบนโต๊ะหรือที่รับประทานอาหาร หากสถานที่จำหน่ายอาหารฝ่าฝืนกฎกระทรวง ซึ่งออกตามความในมาตรา 6 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท รวมถึงกฎหมายท้องถิ่นได้ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2545 ข้อ 9 (10) ห้ามใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงในการทำ ประกอบ ปรุงอาหารบนโต๊ะรับประทานอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหาร หากสถานที่จำหน่ายอาหารฝ่าฝืนข้อบัญญัติท้องถิ่น ซึ่งออกตามความในมาตรา 40 (6) ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกิน 25,000 บาท สำหรับการนำมาใช้ในบ้าน ผู้ใช้เตาแก๊สแบบกระป๋องต้องระมัดระวัง เป็นพิเศษ ไม่ควรใช้เป็นระยะเวลานานต่อเนื่องกันจนทำให้ความร้อนมีการสะสมตัวมากพอและเกิดความเสี่ยงที่จะทำให้กระป๋องก๊าซเกิดการระเบิดได้ รวมทั้งห้ามนำมาอัดแก๊สเพื่อใช้ใหม่” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2562 07:05:01 น. (view: 10336)