News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

“ดวงจันทร์บังดาวอังคาร” คืน 17 เมษายน 2564

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยภาพ “ดวงจันทร์บังดาวอังคาร” คืน 17 เมษายน 2564 ก่อนดาวอังคารแตะขอบดวงจันทร์ เวลา 20:09 น. บันทึกภาพ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และขณะดาวอังคารโผล่พ้นออกจากดวงจันทร์ เวลา 21:26 น. บันทึกภาพ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ดังกล่าวหาชมยากในไทย กระแสในโซเชียลมีเดียคึกคัก สดร. จัดถ่ายทอดสดทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มีประชาชนให้ความสนใจติดตามชมกว่าหลายพันคน

ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคาร ในครั้งนี้ เริ่มสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก ดาวอังคารเริ่มสัมผัสขอบดวงจันทร์ในเวลาประมาณ 20:12 น. ค่อย ๆ ลับหายไปด้านหลังของดวงจันทร์ และโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งในเวลาประมาณ 21:28 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาของการบังจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน) คืนดังกล่าวยังตรงกับดวงจันทร์ขึ้น 5 ค่ำ มองเห็นปรากฏการณ์แสงโลก (Earthshine) ได้อย่างชัดเจนอีกด้วย

สำหรับบรรยากาศการเฝ้าติดตามชมปรากฏการณ์ดังกล่าว แม้ว่าสภาพท้องฟ้าจะมีเมฆมากและฝนตกเกือบทุกภูมิภาคในไทย แต่ก็ยังสามารถสังเกตเห็นได้หลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด ระยอง ชลบุรี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ขอนแก่น เลย ศรีสะเกษ ระนอง ภูเก็ต สงขลา ยะลา ฯลฯ



การบังกันของวัตถุท้องฟ้า (Occultations) เป็นปรากฏการณ์ที่วัตถุท้องฟ้าหนึ่งเคลื่อนที่ผ่านหน้ามาบังอีกวัตถุหนึ่งเมื่อสังเกตจากแนวสายตา อาทิ ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ ดวงจันทร์บังดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บังดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บังกันเอง เป็นต้น เราสามารถใช้ปรากฏการณ์นี้คำนวณหาระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ คำนวณหาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของวัตถุ ตรวจหาและศึกษาโครงสร้างของชั้นบรรยากาศ รวมถึงการใช้ตรวจหาวงแหวนของดาวเคราะห์ชั้นนอกได้อีกด้วย เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิจัยดาราศาสตร์

“ดวงจันทร์บังดาวอังคาร” เป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่หาชมยาก เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และนานทีจะสังเกตการณ์ได้ในประเทศไทย ครั้งต่อไปที่สามารถสังเกตได้ในไทย อีก 19 ปีข้างหน้า จะเกิดขึ้นวันที่ 22 มีนาคม 2583 เวลาประมาณ 00:15 น. 

เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2564 09:27:22 น. (view: 10336)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง