News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
สมาพันธ์ครูเชียงใหม่ ยื่นหนังสือข้อคัดค้าน ข้อเสนอ แก้ไข (ร่าง) พรบ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ....ต่อกรรมมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร และกรรมมาธิการการศึกษาสมาชิกวุฒิสภา
คณะผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1-6 ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่, ผู้แทนสมาพันธ์ครูเชียงใหม่, ผู้แทนเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย, ผู้แทนสมาคมรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ประเทศไทย) ยื่นหนังสือข้อคัดค้าน ข้อเสนอ แก้ไข (ร่าง) พรบ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ.... เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.30 น. ต่อนายนพคุณ รัฐผไท ประธานกรรมมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร และนายวิทยา ทรงคำ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ณ ห้องเอราวัณ สพป.เชียงใหม่ เขต 2 อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ต่อมาในเวลา 13.00 น. คณะดังกล่าวได้ยื่นหนังสือข้อคัดค้าน ข้อเสนอ แก้ไข (ร่าง) พรบ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ.... ต่อนายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ รองประธานกรรมมาธิการการศึกษาสมาชิกวุฒิสภา ณ ห้องพิฆเนศวร สพป.เชียงใหม่ เขต 2 อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
พร้อมกันนี้ทางคณะนำโดย ดร.สุทธิชัย เดชสุวรรณนิธิ ผอ.สพป.เชียงใหม่เขต 2, นายสุทธิดล พุทธรักษ์ ผอ.สพม.เชียงใหม่, นายพัฒนพงษ์ พวงทอง ผอ.สพป.เชียงใหม่ เขต 5, ดร.สุวิทย์ มุกดาภิรมย์ ผอ.สพป.ลำพูน เขต 1, นายพรเทพ ดวงปันสิงห์ นายกสมาพันธ์ครูเชียงใหม่ และรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา, ผู้บริหารสถานศึกษา, ครู และบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ได้พูดคุยแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พรบ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ.... และปัญหาของการศึกษาในปัจจุบัน ให้ทางกรรมมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎรและกรรมมาธิการการศึกษาสมาชิกวุฒิสภา รับนำไปพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ทางนายนพคุณ รัฐผไท ประธานกรรมมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร, นายวิทยา ทรงคำ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และนายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ รองประธานกรรมมาธิการการศึกษาสมาชิกวุฒิสภา ได้รับหนังสือดังกล่าว และได้พบปะพูดคุยถึงขั้นตอนการแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าวและรับปากว่าจะนำไปเสนอในการประชุมกรรมมาธิการทั้งสองคณะต่อไป
โดยสาระสำคัญในการข้อคัดค้าน ข้อเสนอ แก้ไข (ร่าง) พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....สรุปได้ดังนี้
ร่าง พระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้มีบทบัญญัติบางส่วนดี สามารถนำไปเป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพการศึกษาของชาติได้ แต่มีหลายๆ ส่วนที่ยังไม่สอดคล้องกับรูปแบบ วิธี และระบบการจัดการศึกษาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ครอบคลุมในส่วนที่เป็นหลักประกันให้การดำเนินการจัดการศึกษาของรัฐให้มีประสิทธิภาพได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกขับเคลื่อนที่ส่งเสริมภารกิจให้ประสบความสำเร็จ เช่น แนวทางการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผู้เรียนไม่ชัดเจน การไม่คงไว้ซึ่ง ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ(Professional Lisence) การรวบอำนาจบริหารเข้าสู่ส่วนกลาง(Centrallization) และการไม่คงไว้ซึ่งหน่วยงานการศึกษาที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อน เป็นต้น มีบทบัญญัติที่เป็นนามธรรม ยากต่อการนำไปปฏิบัติ ลดทอนความเจริญก้าวหน้าและการสร้างแรงจูงใจของคนที่มีความรู้ความสามารถ และมีจิตวิญญาณที่ดีที่จะอาสาเป็นครูหรือผู้จัดการศึกษา อีกทั้งยังสร้างความเหลื่อมล้ำของข้าราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของชาติ นั่นคือคุณภาพของคนในชาติ เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินภารกิจในการจัดการศึกษาของรัฐที่พึงดำเนินการเฉกเช่นรัฐอื่นๆ ในโลกที่มีหน้าที่จัดการศึกษาซึ่งถือว่ารัฐมีหน้าที่จัดการศึกษาอย่างทั่วถึง และมีคุณภาพเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินการ ร่างกฎหมายดังกล่าวนี้จะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการแก้ไขในภายหลัง และอาจเกิดความเสียหายอย่างหนักยากต่อการแก้ไขหรือเยียวยาในอนาคตภายภาคหน้า อีกทั้งในกระบวนการหลอมรวมในครั้งนี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญ กับความคิดเห็นข้อเสนอแนะของภาคประชาชนมาพิจารณา ขาดการรับฟังความคิดเห็นขององค์กรครูทั่วประเทศ
รุ่งศักดิ์ ชัยชนะสีพลี ชุมชนคนข่าว FM100 รายงาน
เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2564 16:44:19 น. (view: 10336)