News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

สื่อสารฯ ม.เชียงใหม่ จัดให้ความรู้การสื่อสารภาวะวิกฤต เสริมความรู้และพัฒนาทักษะเพื่อพัฒนาแนวทางการสื่อสารในภาวะวิกฤต กฟผ.

คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดการให้ความรู้เรื่องการสื่อสารในภาวะวิกฤตแก่พนักงานกว่า 100 คน เพื่อเสริมความรู้และทักษะผ่านการบรรยาย เสวนา และกิจกรรม Work Shop รับมือสถานการณ์ภาวะวิกฤต



 



     เมื่อวันอังคารที่ 20 กรกฎาคม 2564 คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแนวทางการสื่อสารในภาวะวิกฤต กฟผ. ได้จัดการให้ความรู้เรื่องการสื่อสารภาวะวิกฤต ในรูปแบบออนไลน์ ผ่าน Zoom Cloud Meetings โดยได้รับเกียรติจากคุณฤดีมาส ปางพุฒิพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การ กฟผ. กล่าวต้อนรับวิทยากร ผู้เข้าร่วมงาน และกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้เพื่อเสริมความรู้และพัฒนาทักษะแก่พนักงานในการพัฒนาแนวทางการสื่อสารในภาวะวิกฤต กฟผ.



 



     กิจกรรมภายในงาน แบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลัก ๆ ได้แก่ การบรรยายให้ความรู้ในช่วงเช้า ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ด้านการสื่อสารในภาวะวิกฤตจำนวน 2 ท่าน ได้แก่ รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยายในหัวข้อ การสื่อสารในภาวะวิกฤต (Crisis Communication) และรศ.ดร.ธาตรี ใต้ฟ้าพูล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในหัวข้อ กลยุทธ์การสื่อสารในภาวะวิกฤต (Strategic Communication for Crisis Management) โดยมีการยกกรณีศึกษาตัวอย่างทั้งในประเทศและต่างประเทศมานำเสนอให้ผู้เข้าร่วมงานได้รู้และเข้าใจวิธีการแก้ไขภาวะวิกฤตนั้น ๆ



 



     ต่อมาช่วงบ่าย เป็นการเสวนา พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้เข้าร่วมเสวนาจากหลายหลายสายอาชีพจำนวน 3 ท่าน ประกอบด้วย ผศ.ดร.ชัชวาลย์ ชัยชนะ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และวิเทศสัมพันธ์ และเป็นหัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน มีประสบการณ์การทำงานกับกระทรวงพลังงานและหน่วยงานอื่นมากมาย ดร.กฤษดา นวลมี ผู้ประกาศข่าวช่อง 7HD ตัวแทนนักวิชาชีพสื่อมวลชน และอาจารย์ภูเบศ พิรกุลวานิช อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาการสื่อสารการตลาด คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นตัวแทนนักวิชาการ โดยมีผศ.ศศิกานต์ ลิมปติ รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และประกันคุณภาพการศึกษา คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งบรรยายกาศช่วงเสวนาเป็นไปอย่างเข้มข้น ผู้ร่วมเสวนาแต่ละท่านแชร์ความรู้ ประสบการณ์ และเทคนิคต่าง ๆ ที่น่าสนใจในหลายประเด็น อาทิ หัวใจของการสื่อสารในภาวะวิกฤตคืออะไร ใครควรเป็นผู้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องควรปฏิบัติตัวอย่างไรกับสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องควรปฏิบัติตัวอย่างไรกับผู้คนทั่วไป ควรจัดลำดับความสำคัญของปัญหาอย่างไร ถ้าต้องตอบคำถามที่เราไม่รู้ควรทำอย่างไร หรือแม้แต่ในช่วงสถานการณ์วิกฤต องค์กรสามารถใช้สื่อออนไลน์หรือสื่อบุคคล เช่น Influencer มาช่วยแก้วิกฤตได้อย่างไร ซึ่งคำแนะนำจากผู้ร่วมเสวนามีประโยชน์ที่สามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการสื่อสารภาวะวิกฤตของกฟผ. ได้



 



     และในช่วงสุดท้าย ได้แบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมงานออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อทำกิจกรรม Work Shop โดยคณาจารย์จากคณะการสื่อสารมวลชนได้กำหนดสถานการณ์ภาวะวิกฤตและโจทย์ให้สำหรับแต่ละกลุ่ม ช่วยกันระดมสมอง เสนอไอเดียในการแก้ไข จัดการกับสถานการณ์ภาวะวิกฤตนั้น ถือเป็นการฝึกซ้อมในเบื้องต้นเพื่อให้พนักงานทุกคนมีความเข้าใจกระบวนการการจัดการภาวะวิกฤต ซึ่งจะต่อยอดสู่การฝึกซ้อมแผนภาวะวิกฤต กฟผ. ที่มีกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2564 เพื่อพัฒนาแนวทางการสื่อสารและรับมือกับสถานการณ์วิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ



 



 



     สื่อสาร สร้างสรรค์ แบ่งปัน



 

เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564 13:18:50 น. (view: 10336)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง