News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
แมสคอม มช.จัดเวที “วิทยุกระจายเสียงจะไปต่อหรือพอแค่นี้” วงเสวนาฯเชื่อไปต่อแต่ต้องปรับตัว
เมื่อวันอังคารที่ 21 กันยายน 2564 เวลา 13.30 น. คณะการสื่อสารมวลชน ร่วมกับบริษัท Paneda Tech AB จัดเสวนาออนไลน์ “วิทยุกระจายเสียงจะไปต่อหรือพอแค่นี้” ผ่านแอพพลิเคชั่น Zoom และทาง FACEBOOK LIVE :: FM100 เสียงสื่อสารมวลชน และ Media Agency Association of Thailand - MAAT โดยมีนายนิคม บุญวิเศษ รองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนฯ เป็นประธานเปิดงานเสวนา นายนิคม กล่าวว่า เนื่องจากวิทยุกระจายเสียงอยู่มายาวนานก่อนมี กสทช.และมีประโยชน์อย่างมากกับประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องการไปต่อแน่นอน เพียงแต่จะไปในทิศทางไหนเท่านั้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงที่มีอยู่ยังไม่รู้จะไปรอดหรือไม่ หลังจากมีการออกกฎหมายควบคุม โดยเฉพาะการประมูลคลื่นความถี่ และการขออนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งผู้ประกอบการวิทยุขนาดเล็กค่อนข้างลำบาก ขาดทุนและขาดกำลัง จึงต้องรอ กสทช.ชุดใหม่ ว่าจะดำเนินการอย่างไร
ด้านพันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า กสทช.เป็นองค์กร กำกับ ดูแล มีหน้าที่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เกิดความถูกต้อง สอดคล้องกับบริบทที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาสาเหตุที่จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านตามโรดแมป เนื่องจากศาลปกครองระบุว่าการอนุญาตให้ดำเนินการทดลองออกอากาศ ตามหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2555 เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดที่ กสทช.ก็ต้องดำเนินการตามที่ศาลสั่ง และนำไปสู่โรดแมปการเปลี่ยนผ่านเรื่องของวิทยุไปสู่กระบวนอนุญาตกำกับที่ตรงไปตรงมา
ดร.ธราภุช จารุวัฒนะ นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย เปิดเผยภาพรวมมูลค่าการลงทุนในวิทยุลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับการลงทุนในสื่อออนไลน์
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่าวิทยุกระจายเสียงยังสามารถไปต่อได้แต่ต้องปรับตัวอย่างหนัก สร้างการเชื่อมต่อควบคู่กันระหว่างออนแอร์และออนไลน์
นอกจากนี้ ตัวแทนสื่อวิทยุท้องถิ่น นางสาวเยาวณา อาทิตยาธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัทดนตรีสีสัน ได้กล่าวว่า ผู้ประกอบการวิทยุฯตั้งแต่อดีตมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีการนำออนไลน์ให้มาเสริมจากการออนแอร์อย่างเดียว สำหรับข้อกังวลของผู้ประกอบการวิทยุหลังการประมูลคลื่นความถี่ เช่นการลดกำลังเครื่องส่งลงจะทำให้ผู้ประกอบการวิทยุทำงานยากขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการประมูลหากราคาสูง ก็จะทำให้ผู้ประกอบการวิทยุได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกันกับนางสาวนัทฤทัย ทวีฤทธิ์กุล กรรมการบริหาร บริษัท คลิกวันสเตชั่น จำกัด ที่กล่าวถึง การประมูลคลื่นความถี่ หากเอาเม็ดเงินมาเป็นตัวตั้ง ก็จะทำให้ผู้ประกอบการทำทุกอย่างที่ได้เงิน แต่ถ้าการประมูลเพื่อให้เกิดคอนเท้นต์ดีๆ ก็จะทำให้เกิดการแข่งขันให้มีรายการ ที่มีคุณภาพมากขึ้น
ปิดท้ายที่ นายอนุพนธ์ เตจ๊ะวัณโน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท Paneda Tech AB ที่บอกถึงการเปลี่ยนผ่านจากวิทยุอะนาล็อคสู่วิทยุดิจิทัลและการนำเทคโนโลยีมาใช้ในอนาคต ดังเช่นในต่างประเทศ
ทั้งนี้ในงานเสวนา “วิทยุกระจายเสียงจะไปต่อหรือพอแค่นี้” จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ สามารถรับชมย้อนหลังได้ผ่านช่องทาง FACEBOOK FANPAGE :: FM100เสียงสื่อสารมวลชน และ WWW.FM100CMU.COM
เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2564 16:43:50 น. (view: 10336)