News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ฯ ชี้ "วิทยุไทย" ยังได้ไปต่อ
ดร.ธราภุช จารุวัฒนะ นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอพีจี มีเดียแบรนด์ ประเทศไทย บรรยายในการเสวนาออนไลน์ “วิทยุกระจายเสียงจะไปต่อหรือพอแค่นี้” ซึ่งจัดโดยคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับบริษัท Paneda Tech AB เมื่อวันอังคารที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงภาพรวมมูลค่าการโฆษณาทางสื่อต่างๆ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการโฆษณาทางสื่อวิทยุในกรุงเทพฯ ว่าช่วงเดือนมกราคม - สิงหาคม 2564 มูลค่าการโฆษณาทางสื่อวิทยุติดลบ 8% เป็น 2,217 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีมูลค่า 2,415 ล้านบาท และในครึ่งปีหลังของปี 2564 นี้ คาดว่ามูลค่าการโฆษณาทางสื่อวิทยุจะติดลบ 8 - 11% ซึ่งติดลบมากกว่าอุตสาหกรรมสื่อโดยรวมทั้งหมด ในขณะที่สื่อดิจิทัลหรืออินเทอร์เน็ตเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมีสัดส่วนการเติบโตเพิ่มขึ้น 11 - 14% สำหรับการเข้าถึงสื่อต่างๆ โดยรวม ตามสถิติข้อมูลพบว่า ผู้รับสื่อทั้งเพศชาย และหญิง ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ทั้งในกรุงเทพฯ จังหวัดใหญ่ๆ และจังหวัดรอง ใช้สื่อโทรทัศน์มากที่สุด ในขณะเดียวกันสื่อออนไลน์ และโมบายเป็นสื่อสำคัญที่เข้ามาใกล้เคียงกับสื่อโทรทัศน์ แต่สื่อวิทยุซึ่งลดลงตั้งแต่ปี 2548 จาก 50% เหลือประมาณไม่ถึง 10% ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เติบโตขึ้นมาทดแทนคือ Online Audio ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 30% ส่วนจังหวัดใหญ่ และจังหวัดรองก็เติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน ในสัดส่วนที่มากกว่า 30% เมื่อเจาะลึกลงไปในกลุ่มผู้มีอายุ 15 - 29 ปี พบว่าการใช้โมบาย ออนไลน์ แซงหน้าสื่อโทรทัศน์ โดย Online Audio เติบโตขึ้น 10 - 20% สำหรับการใช้สื่ออินเทอร์เน็ต หรือสื่อออนไลน์นั้น พบว่ากลุ่มผู้ที่มีอายุ 16 - 64 ปี 67.5% ฟังเพลงสตรีมมิ่ง 51.0% ฟังวิทยุออนไลน์ และ 44.2% ฟังพอดคาสต์ โดยการใช้เวลาในการฟังเพลงสตรีมมิ่ง Online Radio และ Radio on Demand เมื่อปีก่อนหน้านี้อยู่ที่ 1 ชั่วโมง 36 นาทีต่อวัน
ในขณะที่ปีนี้ไม่ต่างกันมากนัก คือใช้เวลา 1 ชั่วโมง 34 นาทีต่อวัน เมื่อเทียบกันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ใช้สื่อใช้เวลาฟัง Online และ Streming Radio เพิ่มขึ้น 27% ฟัง Podcast และ Streaming Music เพิ่มขึ้น 49% ในด้าน Audio on Demand นั้น เป็นกลุ่มวัยรุ่นถึง 70% ซึ่งในกลุ่มนี้ 80% สนใจฟังเพลงไทย โดย 65% ฟังแบบสตรีมมิ่ง และ 35% ฟังออนไลน์ สำหรับพฤติกรรมการฟัง Audio Steaming ผู้ใช้สื่อนิยมฟังในขณะออกกำลังกาย เรียนหนังสือ ทำงาน นอนหลับ อยู่กับครอบครัว และสังสรรค์ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนโฆษณานั้น มีวัตถุประสงค์หลักในใช้สื่อวิทยุ คือเพื่อสร้างความถี่ นำเสนอโปรโมชั่น และเข้าถึงท้องถิ่น แม้การวัดผล และการเก็บสื่อโฆษณาสำหรับสื่อวิทยุอาจทำได้เพียงแค่ในกรุงเทพฯ
โดยสื่อวิทยุในกรุงเทพฯ สามารถพิจารณาจำนวนผู้ฟังได้อย่างชัดเจน แต่สำหรับสื่อวิทยุต่างจังหวัด การใช้สื่อวิทยุเพื่อการโฆษณา มักจะเลือกจากสื่อวิทยุซึ่งเป็นที่นิยมในจังหวัดนั้นๆ มีดีเจที่คุ้นเคย และสามารถบอก หรือ Influence เป็นเหมือน Local Influencer ที่สามารถโน้มน้าวให้ซื้อสินค้า ไปร่วมกิจกรรม และเกิดความคุ้นเคยกับโปรโมชั่น ซึ่งดีเจ หรือ Local Influencer สามารถสื่อสารได้อย่างต่อเนื่อง และด้วยความถี่ที่ดี สื่อวิทยุในแง่การวางแผนโฆษณาจึงยังคงเป็นวัตถุประสงค์เดิมคือ เพื่อสร้างความถี่ สร้างโปรโมชั่น และการเข้าถึงท้องถิ่น ทั้งนี้ ตัวอย่างรูปแบบทางสถิติเพื่อดูว่าวิทยุมีผลกับยอดขายอย่างไร มีตัวอย่างสินค้าประเภทรถยนต์ที่ลงโฆษณาทางวิทยุอย่างต่อเนื่อง และทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 9.7% ดังนั้น ในฐานะผู้สนับสนุนสื่อวิทยุ และ Media Agency จึงมองว่าสื่อวิทยุยังคงได้ไปต่อ แต่การไปต่อนั้นจะทำอย่างไรให้สามารถแข่งขันได้ เมื่อเทียบกับ Platform International คล้ายกับการประมูลคลื่นโทรทัศน์เมื่อปี 2557 ที่น่าจะใช้เวลาประมาณ 3 - 5 ปีในการปรับตัว และโทรทัศน์ก็ยังความเป็นสื่อที่สำคัญที่สุดได้ หรือกรณีตัวอย่างของออสเตรเลีย ซึ่งอาจเป็นโมเดลที่ดีและสามารถช่วยสื่อสิ่งพิมพ์ของออสเตรเลียมาแล้ว คือการแก้กฏหมาย International Platform โดยกำหนดว่าหากจะใช้เนื้อหาข่าวของสำนักข่าวใด จะต้องมีการแบ่งรายได้แก่สำนักพิมพ์หรือเจ้าของสื่อนั้นด้วย รูปแบบดังกล่าวนี้อาจเป็นวิธีการที่จะช่วยให้เกิดการแบ่งรายได้ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ การที่คนไทยยังคงนิยมฟังเพลงไทย และเป็นเรื่องยากที่ Platform จะผลิตเองได้ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาผู้ผลิตชาวไทย วิทยุจึงยังได้ไปต่อ เพียงแต่จะมี Platform ใดเข้าจะมาช่วย และให้เกิดความยั่งยืน เนื่องจากในแต่ละปี สื่อเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว หากมี Platform ที่เข้ามา มีความร่วมมือกับค่ายเพลง หรือสำนักข่าวได้ ก็จะสามารถสร้างความนิยมได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับสื่อวิทยุในกรุงเทพฯ ที่มีการประมูลคลื่นวิทยุกันปีต่อปี ในแต่ละปีจึงมีปรากฏการณ์ล้างคลื่น ซึ่งสื่อวิทยุสามารถใช้เวลาเพียง 1 - 2 เดือน ก็สามารถสร้างกลุ่มผู้ฟังให้เพิ่มขึ้นมาได้อย่างชัดเจน
สามารถรับชมย้อนหลังได้ผ่านช่องทาง FACEBOOK FANPAGE :: FM100เสียงสื่อสารมวลชน และ WWW.FM100CMU.COM
เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2564 18:22:33 น. (view: 10337)