News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
ผู้ประกอบการวิทยุธุรกิจท้องถิ่นเชื่อวิทยุยังไปต่อแต่ยังต้องปรับตัวให้รอด เชื่อวิทยุยังไปต่อและไปรอด แต่ต้องปรับตัว ขอ กสทช.ปรับเกณฑ์ให้สอดคล้อง
จากเวทีเสวนาออนไลน์ “วิทยุกระจายเสียงจะไปต่อหรือพอแค่นี้” จัดโดยคณะการสื่อสารมวลชน ร่วมกับบ. Paneda Tech AB เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา นางสาวเยาวณา อาทิตยาธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัทดนตรีสีสัน กล่าวถึงนวัตกรรมในการประกอบกิจการวิทยุในอนาคตท่ามกลาง Disruption ว่า ผู้ประกอบการวิทยุฯตั้งแต่อดีตมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีการนำออนไลน์เข้ามาเสริมมากขึ้น จากที่ผ่านมามีการออนแอร์อย่างเดียว การปรับตัวของวิทยุไม่ได้ยินแค่เสียงอย่างเดียวแล้ว แต่มีทั้งภาพ ทั้งเสียง และผ่านหลายช่องทาง ดังนั้นเทคโนโลยี ทำให้คนไม่ได้ฟังจากคลื่นความถี่อย่างเดียวแล้ว
สำหรับข้อกังวลของผู้ประกอบการวิทยุหลังการประมูลคลื่นความถี่ เช่นการลดกำลังเครื่องส่งลงจะทำให้ผู้ประกอบการวิทยุทำงานยากขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการประมูลหากราคาสูง ก็จะทำให้ผู้ประกอบการวิทยุได้รับผลกระทบ เพราะทุกวันนี้มีการเก็บค่าใช้จ่ายน้อยมาก เช่นการเก็บค่าสปอตโฆษณาในราคาถูกอยู่แล้วและไม่ได้ปรับราคามา 30 ปีแล้วนับแต่อดีต เพราะหากเก็บแพงก็จะไม่มีใครมาลงโฆษณา เนื่องจากทุกวันนี้คนมีการเลือกมากขึ้น
“เชื่อว่าวิทยุกับท้องถิ่นยังเชื่อมโยงกัน เพราะมีทั้งข้อมูล ข่าวสาร ความบันเทิงที่ใกล้ชิดกันมากกว่า และวิทยุยังทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่นได้มาก จึงขอให้ความมั่นใจว่าวิทยุท้องถิ่นยังไปต่อแต่ต้องปรับตัวไปตามเทคโนโนโลยี” นางสาวเยาวณากล่าว
จากเวทีเสวนาออนไลน์ “วิทยุกระจายเสียงจะไปต่อหรือพอแค่นี้” จัดโดยคณะการสื่อสารมวลชน ร่วมกับบ. Paneda Tech AB เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา นางสาวนัทฤทัย ทวีฤทธิ์กุล กรรมการบริหาร บริษัท คลิกวันสเตชั่น จำกัด กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ หากเอาเม็ดเงินมาเป็นตัวตั้ง ก็จะทำให้ผู้ประกอบการทำทุกอย่างที่ได้เงิน แต่ถ้าการประมูลเพื่อให้เกิดคอนเท้นต์ดีๆ ก็จะทำให้เกิดการแข่งขันให้มีรายการ ที่มีคุณค่า มากขึ้น จึงขอให้คำนึงถึงกติกาที่กำหนดในการประมูลไม่ควรเอาเม็ดเงินเป็นตัวตั้ง ทั้งนี้ผู้ประกอบการพร้อมอยู่ภายใต้กฎหมายแต่ควรคำนึงถึงทุกด้านเพื่อให้เกิดสื่อน้ำดีเพิ่มขึ้น เพราะผู้ประกอบวิชาชีพทุกคนก็รักและหวงแหนในวิชาชีพของตัวเอง
“ มีการคุยกันว่า วิทยุจะไปต่อต้องมี 7 ทางรอด 1ข้อเสนอแนะ คือการทำให้สถานีวิทยุฯเป็นทุกอย่าง พระ โรงเรียน องค์กร หน่วยงานในพื้นที่ เราจะต้องตอบโจทย์ผู้ฟังในชุมชน ว่าชอบรายการแบบไหน นำเทคโนโลยีมาต่อยอด ต้องทำออนไลน์คู่กับออฟไลน์ รวมถึงออนกราวด์ การทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน และการหาพาร์ทเนอร์ในชุมชน ให้พื้นที่สื่อกับคนในชุมชน สุดท้ายการผลิตรายการที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน ก็จะทำให้เราไปรอดได้ “ ผู้บริหารบริษัท คลิกวันสเตชั่น จำกัด กล่าว
สามารถรับชมย้อนหลังได้ผ่านช่องทาง FACEBOOK FANPAGE :: FM100เสียงสื่อสารมวลชน และ WWW.FM100CMU.COM
เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2564 18:28:40 น. (view: 10336)