News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

จังหวัดเชียงใหม่ เตรียมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รองรับการเกิดพายุที่จะพัดผ่านเข้ามาในประเทศไทย และสำรวจปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดในช่วงฤดูแล้ง พร้อมเร่งหารือแก้ไขปัญหากรณีต้นยางนา 

วันนี้ (12 ต.ค. 64) นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายธนา นวลปลอด ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมและเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย ในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ ว่าจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการเตรียมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมซักซ้อมแผน รองรับการเกิดพายุที่จะพัดผ่านเข้ามาในประเทศไทย ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อน พบว่ายังมีไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ จึงได้มีการสำรวจปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำต่าง ๆ เพื่อให้มีการบริหารจัดการการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค ในช่วงฤดูแล้ง



ด้าน นายธนา นวลปลอด กล่าวว่า สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มีการแจ้งเตือนภัยประชาชน เมื่อมีแนวโน้มการเกิดสถานการณ์จากเหตุอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มขึ้นในพื้นที่ ผ่านศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มระดับอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและเตรียมการในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นการล่วงหน้า และแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบในทุกช่องทาง ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการได้ทันท่วงที ทั้งออนไลน์ ออนแอร์ และออนกราวด์ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย และการขอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น



โดยในปี 2564 จังหวัดเชียงใหม่ ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (อุทกภัย) จำนวน 16 อำเภอ 59 ตำบล 429 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 57,082 ครัวเรือน 165,651 คน บ้านเรือนได้รับความเสียหายจำนวน 768 หลัง พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 5,480.4 ไร่ ประมง 45 บ่อ/กระชัง ปศุสัตว์ 158 ตัว สิ่งสาธารณประโยชน์ ได้แก่ ถนนเสียหาย 427 สาย สะพาน 26 แห่ง และเหมือง/ฝาย 39 แห่ง อื่นๆ 605 และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) จำนวน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกัลยาณิวัฒนาและอำเภอแม่แจ่ม รวม 4 ตำบล 29 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 4,301 ครัวเรือน 16,950 คน สิ่งสาธารณประโยชน์ ได้แก่ ถนน 16 สาย สะพาน 2 แห่ง เหมือง/ฝาย 5 แห่ง



ในการนี้ นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาความทรุดโทรมของต้นยางนาว่า ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดูแล ตัดแต่งกิ่งไม้ ซึ่งจะมีกลไกลการผ่านคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการบูรณาการร่วมกันกับกรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการลงสำรวจต้นยางนา พบว่ามีต้นยางนาที่ทรุดโทรมเสียหายประมาณ 200  แต่มีต้นยางนาที่จำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟู ดูแลรักษา ประมาณ 30 ต้น ซึ่งขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปดำเนินการอย่างเร่งด่วนแล้ว เพื่อความปลอดภัยกับชาวบ้าน และสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์ที่เสียหายไปมากกว่านี้ ทั้งนี้ จะได้มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหากรณีต้นยางนาในช่วงบ่ายนี้

เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2564 14:12:11 น. (view: 10337)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง