News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

            คณะแพทยศาสตร์ และเทคนิคการแพทย์ มช. ร่วมวิจัยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้สูงอายุ พบการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา หรือไฟเซอร์ หลังฉีดซิโนแวค 2 เข็ม กระตุ้นภูมิในระดับสูงมาก

            ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. ฝ่ายวิจัย รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. และ ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.วัชระ กสิณฤกษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มช. ร่วมเปิดเผยถึงความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในงานวิจัยเพื่อทดสอบค่าภูมิคุ้มกันแอนติบอดีที่ยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัสโควิด-19 (neutralizing antibody, NAb) สายพันธุ์ต่างๆ ในอาสาสมัครบุคลากรทางการแพทย์อายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งไม่มีโรคประจำตัวที่ควบคุมไม่ได้ จำนวน 46 ท่าน ที่ได้รับวัคซีนสูตร 3 เข็ม ได้แก่ วัคซีนมาตรฐาน 2 เข็มของซิโนแวค และได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตราเซเนกา หรือไฟเซอร์ โดยเปรียบเทียบภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ ในผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ก่อนและหลังได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกาเปรียบเทียบกับวัคซีนไฟเซอร์



            ข้อแตกต่างของงานวิจัยชิ้นนี้จากงานวิจัยอื่น คือเป็นการศึกษาเฉพาะประชากรกลุ่มเสี่ยงได้แก่ผู้สูงอายุ และเป็นการทดสอบ Neutralizing antibody (NAb) ไม่ใช่การทดสอบแอนติบอดีต่อโปรตีนหนามหรือต่อ RBD ที่ถูกรายงานมาก่อนหน้านี้ NAb เป็นแอนติบอดีที่มีผลยับยั้งเชื้อโควิด-19 ไม่ให้เข้าเซลล์โดยตรง ทำให้ไวรัสไม่สามารถก่อโรคในคนได้ นอกจากนี้ยังเป็นการทดสอบผลต่อเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์ต่างๆ ประกอบด้วย สายพันธุ์ดั้งเดิม สายพันธุ์แอลฟา สายพันธ์เบตา รวมทั้งสายพันธุ์เดลตา ซึ่งกำลังระบาดในประเทศไทยด้วย



            ผลการวิจัยพบว่าในประชากรผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค สูตรมาตรฐาน 2 เข็มมาก่อน เมื่อกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกา หรือไฟเซอร์ เพียง 1 เข็ม สามารถกระตุ้นภูมิให้มีระดับ neutralizing antibody อยู่ในระดับสูงมาก ในการยับยั้งการเข้าสู่เซลล์มนุษย์ของเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม สายพันธุ์เดลตา สายพันธุ์แอลฟา และสายพันธุ์เบตา ทั้ง 2 วัคซีน โดยพบว่าวัคซีนซิโนแวค เป็น priming vaccine ที่ดี



 



ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

#FM100Health

เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2564 15:17:34 น. (view: 7274)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง