News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
นักศึกษา บุคลากร มช. ได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 มากกว่า 95% เตรียมความพร้อมเปิดเรียนแบบ On-site
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศและจังหวัดเชียงใหม่เริ่มคลี่คลายดีขึ้น ปัจจุบันนักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แล้วมากกว่า 95% มหาวิทยาลัยคาดว่าจะสามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On-site ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2564
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดหอประชุม มช. เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชน และนักศึกษา บุคลากร มช. นอกจากนี้ ยังได้ให้บริการฉีดวัคซีนแก่นิสิต นักศึกษา และบุคลากรจากสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อีกด้วย
สำหรับการเปิดเรียนการสอนแบบ On-site นั้น มหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงความปลอดภัยสำหรับนักศึกษาเป็นสำคัญ โดยมีการรักษาความปลอดภัยตามมาตรการของ ศบค. อย่างเคร่งครัด ด้านอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กำหนดวิธีปฏิบัติเพื่อที่จะสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ได้มีการทำความสะอาด อบโอโซน อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน หรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ พื้นที่อาคารสำนักงาน หอพักนักศึกษา หอสมุด ศูนย์อาหาร และบริเวณโดยรอบเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยมีมาตรการดูแลที่เหมาะสม การจัดการเรียนการสอนทุกระดับ ให้จัดจำนวนนักศึกษาในห้องเรียน/ห้องปฏิบัติการให้สามารถเว้นระยะห่างของผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม
ด้านการสนับสนุนการศึกษา การเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญที่มหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยมหาวิทยาลัยได้การสนับสนุนอุปกรณ์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับนักศึกษาเพื่อการศึกษาแบบออนไลน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงโปรแกรมการจัดการเรียนการสอน การสอบ และสร้างสื่อ Online ด้วยตัวเองสำหรับคณาจารย์อาจารย์อีกด้วย
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผนึกกำลังความร่วมมือช่วยเหลือนักศึกษาและบุคลากรที่ได้รับเชื้อโควิด-19 มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operating Center; EOC) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมของการดูแลและช่วยเหลือ
นักศึกษาและบุคลากร พร้อมทั้งมีการติดตามเฝ้าระวังโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด พร้อมทั้งปรับหอพักนักศึกษาหญิง 5 ให้เป็นโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ 2 เพื่อดูแลนักศึกษาและบุคลากร มช. ที่ได้รับผลตรวจ COVID-19 เป็นบวก รวมถึงเปิดบริการหอพักอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยดูแลนักศึกษาหอพักที่อาศัยอยู่เดิมและไม่เดินทางกลับภูมิลำเนา
นอกจากนี้ ได้นำองค์ความรู้ พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ช่วยเหลือสังคม โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ สู้ COVID-19 เพื่อสนับสนุนการรักษาและการควบคุมโรคระบาด อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ปรับปรุงห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบ รวมทั้งระบบปรับอากาศให้สามารถควบคุมเชื้อไม่ให้เข้าไปสู่ห้อง หรือระบายอากาศที่มีเชื้อออกไปบำบัด (Positive/Negative Pressure) “CMU Aiyara Robot : หุ่นยนต์ขนส่งในหอผู้ป่วย COVID-19 ส่งอาหาร ยา หรือของให้ผู้ป่วยในห้องพักผู้ป่วย เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบความดันลบ มุ้งความดันลบสำหรับกักกันเชื้อจากเตียงผู้ป่วย และ ตู้ Swab สำหรับการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อ คณะสาธารณสุขศาสตร์จัดทำแอปพลิเคชันระบบคัดกรองความเสี่ยงผู้สงสัยติดเชื้อ COVID-19 เพื่อติดตามและเฝ้าระวังการแพร่ระบาด พร้อมคำแนะนำที่เหมาะสม สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ ใช้เครื่องอบโอโซนบริการฆ่าเชื้อตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น
ในการช่วยเหลือนักศึกษานั้น มหาวิทยาลัยได้มีการลดค่าธรรมเนียมการศึกษา ทุกหลักสูตร ทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา รวมทั้งลดค่าบำรุงหอพัก นอกจากนี้ ยังได้จัดหาทุนการศึกษา ทั้งระดับมหาวิทยาลัยและระดับคณะ กองทุนช่วยเหลือบรรเทาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 แก่นักศึกษา เพื่อเป็นทุนทำงาน และเป็นเงินยืม ตลอดจนช่วยผ่อนผันระยะเวลา/เลื่อนการชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่มีความจำเป็น
ในด้านการอำนวยความสะดวกและให้ข้อมูลได้อย่างทันท่วงที ได้มีการเปิดช่องทางให้ข่าวสารและประสานความช่วยเหลือผ่าน Call Center ช่องทางออนไลน์ ถาม-ตอบ ทาง Facebook : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Line ของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งประเด็นคำถามถามบ่อยเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัย www.cmu.ac.th
เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2564 10:55:54 น. (view: 10337)