News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หนุนช่วยเกษตรกรหลังปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาลตกต่ำ ชวนคนไทยกินผลไม้ไทย ชี้ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีคุณค่าโภชนาการเพียบ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หนุนช่วยเกษตรกรหลังปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาลตกต่ำ ชวนคนไทยกินผลไม้ไทย ชี้ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีคุณค่าโภชนาการเพียบ
นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรไทยกำลังประสบปัญหาผลผลิตผลไม้ไทยล้นตลาด 5 ชนิด คือ มังคุด ลำไย ลองกอง เงาะ และทุเรียน ทางหนึ่งที่จะช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับความเดือดร้อน คือการส่งเสริมคนไทยหันมากินผลไม้ไทยให้มากขึ้น แต่ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ ซึ่งผลไม้อุดมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระ ใน 1 วันควรกินผลไม้ 3- 5 ส่วน และกินให้หลากหลายเพราะในผลไม้แต่ละชนิดก็จะมีวิตามิน แร่ธาตุ มากน้อยแตกต่างกันไป โดยผลไม้ไทยทั้ง 5 ชนิด จะให้คุณค่าสารอาหารและสรรพคุณที่ดีต่อร่างกายต่างกันไปด้วย โดยควรกินในปริมาณที่เหมาะสมต่อมื้อ ดังนี้ 1) มังคุด มีสารแซนโทน มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดการปวดข้อเข่า 1 ส่วนเท่ากับ 4 ผล 2) ลำไย เป็นแหล่งวิตามินซี แต่ให้น้ำตาลสูง ควรกินแต่พอดี 1 ส่วน เท่ากับ 5-6 ผล 3) ลองกอง เป็นแหล่งโปแตสเซียมและใยอาหาร มีสรรพคุณ ในการลดความร้อนที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ลดอาการร้อนในช่องปาก 1 ส่วนเท่ากับ 5-6 ผล 4) เงาะ มีวิตามินซี แคลเซียม ช่วยในการป้องกันโรคหวัด เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน 1 ส่วน เท่ากับ 4 ผล และ 5) ทุเรียน มีเบต้าแคโรทีนและโปแตสเซียม แต่เป็นผลไม้ที่มีรสหวานมัน ให้พลังงานสูง 1 ส่วน เท่ากับ 1 เม็ดเล็กไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน จึงต้องจำกัดการกินในปริมาณที่เหมาะสม เพราะหากกินเข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การกินทุเรียนที่มากเกินไปจะทำให้ร้อนในและรู้สึกไม่สบายเนื้อ ไม่สบายตัว และควรเลือกกินผลไม้สดในปริมาณที่เหมาะสมแทนผลไม้กระป๋องหรือผลไม้อบแห้ง เพื่อให้ร่างกาย ได้คุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่า
“ทั้งนี้ จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ 2557 พบว่า คนไทยยังคงกินผลไม้ไม่เพียงพอ โดยพบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป กินผลไม้เพียงพอต่อวันเพียงร้อยละ 30.5 กินผักและผลไม้เพียงพอต่อวันเพียงร้อยละ 25.9 กลุ่มอายุ 30-59 ปี กินผักและผลไม้เพียงพอร้อยละ 29.0-30.6จะลดลงในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป บริโภคผักและผลไม้เพียงพอร้อยละ 20.9 และลดลงมากที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป กินผักและผลไม้เพียงพอร้อยละ 11 ทั้ง ๆ ที่ควรกินผลไม้ให้มากขึ้น เพราะทุกวัยต้องการวิตามินและแร่ธาตุ โดยเฉพาะวัยสูงอายุมีการเสื่อมของเซลล์มากกว่าวัยอื่น ๆ และเป็นวัยที่ต้องการวิตามินและแร่ธาตุ จากผักและผลไม้เพื่อยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระที่เป็นสารทำลายเซลล์และเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง อีกทั้ง ยังต้องการใยอาหารเพื่อช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล และกระตุ้นการขับถ่ายช่วยให้ท้องไม่ผูก ผลไม้ไทย จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภคและยังเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ยังช่วยให้คนไทยได้บริโภคผลไม้หลากหลายชนิดตามแต่ละฤดูกาลอย่างต่อเนื่อง” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2562 02:54:49 น. (view: 10336)