News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
หมอเตือนผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงสำลักอาหารหลอดลมอุดกั้นอันตรายถึงชีวิต
แพทย์รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ห่วงผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงภาวะสำลักอาหาร เนื่องจากกล้ามเนื้อการกลืนอ่อนแอและเสื่อมตามวัย หลังพบผู้ป่วยชายวัย 68 ปี สำลักอาหาร พบเนื้อไก่ขนาด 5 ซม. อุดกั้นหลอดลม
ผศ.นพ.หาญพล ขลิบเงิน อาจารย์ประจำหน่วยศัลยกรรมศีรษะและคอ มะเร็งวิทยา และศูนย์บำบัดด้วยออกซิเจนฯ ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. ให้สัมภาษณ์ว่า “ผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร เพราะกล้ามเนื้อการกลืนอ่อนแอลงตามวัย และมีปัญหาด้านฟันที่ไม่สมบูรณ์การเคี้ยวและการกลืนจะไม่ปกติเหมือนคนหนุ่มสาว การรับประทานอาหารคำใหญ่มีโอกาสสำลักสูง
ซึ่งเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยสูงอายุเพศชาย อายุ 68 ปี ถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลสะเมิง ด้วยประวัติว่าเวลาประมาน19.30น. ได้ทานข้าวสวยไก่ต้มกับญาติ ขณะรับประทานอาหารมีอาการสำลัก เริ่มหายใจไม่ออก หน้าเขียว และล้มหมดสติ ญาติจึงได้นำส่งโรงพยาบาลและใส่เครื่องช่วยหายใจ ระหว่างทางพบอาการหัวใจหยุดเต้นและได้ทำการกู้ชีพขึ้นมาได้ และส่งตัวมารักษาต่อที่รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ แพทย์หูคอจมูก วิสัญญีแพทย์ และศัลยแพทย์ทรวงอก พบสิ่งแปลกปลอมติดในหลอดลม จึงได้ช่วยกันส่องกล้องผ่านหลอดลมแบบแข็ง เพื่อนำสิ่งแปลกปลอมออกมา พบเป็นเนื้อไก่ยาว 5 เซนติเมตร ถือว่าผู้ป่วยรายนี้โชคดีมากที่แพทย์สามารถช่วยชีวิตได้ทัน ปัจจุบันอาการดีขึ้นและยังอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด”
อาจารย์ประจำหน่วยศัลยกรรมศีรษะและคอ มะเร็งวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ภาวะหลอดลมอุดกั้นมักจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1.สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นบางส่วน คนไข้จะยังสามารถพูดมีเสียงอยู่หรือไอออกมาได้ 2.สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นอย่างสมบูรณ์ คนไข้จะพูดไม่มีเสียง มีอาการเขียวทันที ต้องสังเกตว่าเป็นแบบไหน หากอุดกั้นแบบสมบูรณ์จะเกิดภาวะหยุดหายใจทันที อันตรายมากหากผู้สูงอายุมีอาการลำลักอาหารและมีหลอดลมอุดกั้นชนิดนี้
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากพบผู้มีสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ กรณีผู้ใหญ่สามารถช่วยเหลือเบื้องต้นโดยการโอบกอดจากด้านหลัง และใช้กำปั้นกดใต้ลิ้นปี่ให้เกิดแรงดันในช่องท้อง เพื่อให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา หากไม่หายใจแล้ว ต้องรีบกู้ชีพ หรือโทรแจ้ง 1669 เรียกรถพยาบาลทันที
เนื่องจากผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้จึงควรรับประทานอาหารที่อ่อนนุ่ม ไม่เหนียว แบ่งอาหารเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนจะรับประทานและเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน รวมถึงควรหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนขณะทานอาหารอีกด้วย”
ข้อมูลจาก ผศ.นพ.หาญพล ขลิบเงิน อาจารย์ประจำหน่วยศัลยกรรมศีรษะและคอ มะเร็งวิทยา และศูนย์บำบัดด้วยออกซิเจนฯ ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช.
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2565 18:24:28 น. (view: 10337)