News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
สำเร็จเกินคาด เกษตรกรถึงบางอ้อ หลังกรมการข้าว จับมือองค์กรต่างๆ และ มูลนิธิม.เกษตรฯ วิทยุ ม.ก.ทำโครงการนำร่องโรงเรียน”ปุ๋ยสั่งตัด”ทางอากาศ ให้องค์ความรู้แก่เกษตรกรต้นแบบพื้นที่เชียงใหม่ก่อนขยายผล น้อมนำตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกัน สืบสาน รักษา
เชียงใหม่ 4 กันยายน 2562 ที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายวิวัฒน์ เอื้องไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่ พร้อมด้วย ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน ในฐานะครูใหญ่ “โครงการนำร่องโรงเรียนปุ๋ยสั่งตัดทางอากาศ”ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุพร สุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุ ม.ก.ในฐานะองค์กรผู้แทนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายสกุล มูลคำ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ พร้อมผู้เกี่ยวข้องร่วมในพิธีปิดและมอบประกาศนียบัตร โครงการนำร่อง โครงการโรงเรียน ปุ๋ยสั่งตัดทางอากาศ ในพื้นที่ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือของหน่วยงานองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน มูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในนามของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้ความรู้ในเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด ให้กับเกษตรกรชาวนาต้นแบบ 44 ราย นำเอาไปปฏิบัติใช้อย่างมีประสิทธิภาพก่อนจะขยายผลสู่พื้นที่อื่นต่อไป
ซึ่งโครงการดังกล่าวเปิดตัวโครงการเมื่อ 25 มิ.ย.62 และมีการออกอากาศองค์ความรู้ปุ๋ยสั่งตัด ช่วง วันที่ 1 ก.ค. – 20 ส.ค. 62 ที่ผ่านมา ผ่านสถานีวิทยุ ม.ก.ทุกช่องทางทั้ง 4 ภูมิภาคในระบบ เอ.เอ็ม.สเตอริโอ และยังสามารถรับชม-รับฟัง ทั้งภาพและเสียงผ่าน Mobile Application ทั้งในระบบ Android ระบบ iOS และผ่านสื่อโซเชียล Facebook Live , YouTube Live ซึ่งสามารถรับชม-รับฟังย้อนหลังได้ เพื่อให้เกษตรกรไทย บุคลากร ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจทั่วไป นำไปใช้ในการประกอบอาชีพสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นการนำร่องให้ข้อมูล ที่ถูกต้องให้กับเกษตรกรได้เอานำไปใช้ให้เหมาะสม ซึ่งผ่านมาการให้องค์ความรู้อาจจะไม่ทั่วถึง การใช้สื่อของทางสถานีวิทยุเพื่อเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรงก็จะเป็นการปฏิบัติที่เข้าถึงกลุ่มและถือเป็นการวิจัยถึงผลสัมฤทธิ์ไปด้วย เพราะเทคโนโลยีเรื่องของปุ๋ยสั่งตัดแม้จะมีมานานแต่ยังถือว่าการนำไปใช้ ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จากข้อมูลของกรมการข้าว ในปี 2560 ประเทศไทยมีพื้นที่นาทั้งประเทศกว่า 56 ล้านไร่ แต่มีการใช้ปุ๋ยสั่งตัดแค่ 23,000 ไร่ หรือแค่ 0.4% เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก ซึ่งถ้าชาวนาทั้งประเทศหันมาใช้ปุ๋ยสั่งตัด จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยไปได้ถึงปีละกว่า 14,000 ล้านบาท
ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ผ่านมาพบว่า เกษตรกรชาวนาส่วนใหญ่ยังมีความรู้ความเข้าใจเรื่องดินและปุ๋ยสำหรับผลิตข้าวไม่ถูกต้อง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้และให้ข้อมูลเพื่อให้เกิดความเข้าใจในการที่จะนำปุ๋ยสั่งตัดไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องเหมาะสม จึงเกิดโครงการนำร่องโรงเรียนปุ๋ยสั่งตัดทางอากาศในครั้งนี้ขึ้น โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุพร สุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุ ม.ก.กล่าวว่า โครงการ “โรงเรียนปุ๋ยสั่งตัดทางอากาศ” เป็นการจัดการเนื้อหาให้ความรู้ที่ถูกต้องจากผู้รู้ให้ชาวนาโดยตรงผ่านการผลิตรายการ และการเผยแพร่องค์ความรู้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด ออกสู่สาธารณชน ผ่านทางเครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกอากาศทั้ง 4 ภูมิภาค เพื่อให้เกษตรกรไทย บุคลากร ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจทั่วไป นำไปใช้ในการประกอบอาชีพสนับสนุนซึ่งกันและกัน อันจะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวมต่อไป
สำหรับโครงการความร่วมมือเผยแพร่องค์ความรู้ “โรงเรียนปุ๋ยสั่งตัดทางอากาศ” ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจการนำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ไปใช้ในการปลูกข้าว ให้แก่ เกษตรกร บุคลากร ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจทั่วไป เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรนำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” มาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรของตนเอง เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ใช้เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” แบบครบวงจร และเพื่อดำเนินการให้เป็นโรงเรียนปุ๋ยสั่งตัดทางอากาศต้นแบบ ในการพัฒนาและต่อยอดโครงการดังกล่าวฯ ให้เป็นต้นแบบในการขยายโครงการต่อไป โดยเบื้องต้นได้นำร่องให้เกษตรที่ได้รับคัดเลือกเพื่อเป็นต้นแบบในการเรียนรู้ นำไปใช้ได้จริงและนำไปเผยแพร่ จำนวน 44 คน ก่อนจะประเมินผลเพื่อพัฒนาและขยายผลของโครงการระยะต่อไป ซึ่งเบื้องต้นเกษตรกรต้นแบบต่างพอใจกับข้อมูลที่ได้รับเพราะได้เรียนรู้เรื่องปุ๋ยสั่งตัดได้อย่างเข้าใจถูกต้องแท้จริง ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนและสร้างความเข้มแข็ง ยั่งยืนให้แก่เกษตรกรไทย
เขียนเมื่อ 04 กันยายน 2562 08:02:39 น. (view: 9879)