News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

เขื่อนแม่งัดฯ น้ำมากถึง 85% ชลประทานวาง 2 แนวทางระบายน้ำทั้งน้ำในเกณฑ์และเกินความจุ วางเป้า 1 พ.ย. มีน้ำ 94% ของความจุ เว้นช่องว่างไว้ 15 ล้าน ลบ.ม. เผื่อน้ำมากเกินเกณฑ์คาดการณ์-มีพายุเข้า ย้ำชัดติดตาม-ประเมินใกล้ชิด พร้อมปรับแนวทางให้ทันต่อสถานการณ์ได้

 



วันที่ 30 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการฯ (ผคบ.แม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ว่า เบื้องต้นต้องดูปริมาณฝนซึ่งฝนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 จนถึงปัจจุบันมีอยู่ 1,141 มม. ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 1,200 มม./ปี ซึ่งยังมีเวลาฝนอีก 2 เดือนคือ กันยายน และเดือนตุลาคม เป็นไปได้ที่ปริมาณน้ำฝนจะเกินกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย



“สำหรับปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสะสมรายปีโดยเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำฝน ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 193 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณน้ำเมื่อปี 2552 ซึ่งทั้งปีมีน้ำไหลเข้าเขื่อน 236 ล้าน ลบ.ม. ปี 2565 เหลืออีกประมาณ 40 ล้าน ลบ.ม. ที่จะเท่ากับปี 2552 ซึ่งประเมินแล้วคาดว่าปริมาณน้ำเข้าเขื่อนปี 2565 นี้ จะมีปริมาณใกล้เคียงกับปี 2552 ก็คาดว่าจะมีปริมาณไหลเข้าเขื่อนอยู่ราว 240 ล้าน ลบ.ม.” นายเฉลิมเกียรติฯ กล่าว



ผคบ.แม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการน้ำได้ยึดตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน 2565 ซึ่งเป็นนโยบายของกรมชลประทาน โดยที่ทำไปแล้วนั้น ได้แก่ การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ซึ่ง คบ.แม่งัดฯ มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมคือ พื้นที่ในอำเภอสันทราย นอกจากนี้ยังมีการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารและระบบชลประทาน ได้มีการปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคูคลอง เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ มีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและมีการปรับปรุงการส่งน้ำการระบายน้ำในพื้นที่โครงการฯ เพื่อเพิ่มช่องว่างสำหรับรับน้ำที่อาจหลากในพื้นที่ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ และการติดตามประเมินผลเพื่อนำมาปรับปรุงสิ่งที่ได้ดำเนินการตามแผน หากว่าไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ก็จะปรับปรุงการดำเนินการเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์



ต่อประเด็นการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลซึ่งขณะนี้อยู่ในปริมาณที่มาก นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ชี้แจงว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีอยู่ราว 225 ล้าน ลบ.ม. หรือราว 85% ของความจุ ซึ่งเป็นปริมาณที่เกินเกณฑ์กำหนดที่ 80% ได้มีการกำหนดการระบายน้ำ โดย ประการแรกส่งน้ำให้พื้นที่โครงการฯ ที่มีอยู่ราว74,000 ไร่ โดยมีแผนส่งน้ำให้ราว 55 ล้าน ลบ.ม. ส่งให้แล้ว 20 ล้าน ลบ.ม. เหลืออีกราว 33 ล้าน ลบ.ม. ที่จะต้องส่งให้พื้นที่เพาะปลูกของโครงการฯ ตลอดช่วงฤดูฝน ประการที่ 2 ระบายน้ำไปที่ฝายสินธุกิจปรีชา ปัจจุบันใช้น้ำปิงเป็นหลักจึงไม่ได้ส่งน้ำจากเขื่อนแม่งัดไปช่วย รวมถึงพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำปิงราว 2.8 แสนไร่ ยังไม่มีการส่งน้ำจากเขื่อนแม่งัดไปช่วยเช่นกัน โดยพื้นที่ใช้น้ำจากแม่น้ำปิงเป็นหลัก สำหรับการระบายน้ำในปัจจุบันเพื่อรองรับน้ำฝนในอีก 2 เดือนข้างหน้า (เดือนกันยายนและเดือนตุลาคม) ซึ่งการคาดการณ์โดยใช้ตัวเลขปี 2552 เป็นแนวทาง คาดว่าเดือนกันยายนนี้จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนฯ ราว 59 ล้าน ลบ.ม. เดือนตุลาคมจะมีน้ำไหลเข้าเขื่อนฯ อยู่ราว 43 ล้าน ลบ.ม. รวมแล้วทั้ง 2 เดือนจะมีน้ำไหลเข้าเขื่อนฯ อยู่ราว 100 ล้าน ลบ.ม. และหากรวมกับปริมาณน้ำที่มีในเขื่อนฯ ปัจจุบันนี้ ก็จะมีน้ำในเขื่อนอยู่ราว 325 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเกินความจุ โดยความจุเก็บกักปกติของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดฯ อยู่ที่ 265 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งนั่นหมายถึง น้ำล้น Emergency Spillway ก็จะไม่สามารถควบคุมน้ำได้ อาจส่งผลกระทบกับตัวเมืองเชียงใหม่



“การบริหารจัดการน้ำ โครงการฯ ได้มีการวางแผน โดยกำหนดเป้าหมายไว้ว่า วันที่ 29 ส.ค. 65 เป้าหมายกักเก็บน้ำอยู่ที่ 225 ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์วันที่ 30-31 ส.ค. น้ำจะเข้าเขื่อนอีก 5 ล้าน ลบ.ม. โดยมีแผนการส่งน้ำอยู่ที่ 7.8 แสน ลบ.ม. 2 วันนี้จะมีการระบายน้ำออก 9.2 ล้าน ลบ.ม. จะทำให้ ณ วันที่ 1 ก,ย. 65 จะมีน้ำเก็บกักอยู่ราว 220 ล้าน ลบ.ม. หรือ 83% ของความจุ และจากการคาดการณ์เกณฑ์ฝนปี 2552 จะมีน้ำไหลเข้าเขื่อน 59 ล้าน ลบ.ม. เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นต้องระบายน้ำออก 59 ล้าน ลบ.ม. ต่อเดือน วันที่ 1 ตุลาคม มีเป้าหมายเก็บกักอยู่ที่ 227 ล้าน ลบ.ม. หรือ 86% ของความจุ โดยคาดการณ์น้ำที่จะเข้าเขื่อนในเดือนตุลาคมที่ 42 ล้าน ลบ.ม. ได้วางแผนการระบายน้ำออก 20 ล้าน ลบ.ม. ต่อเดือน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน จะมีปริมาณน้ำเก็บกับในเขื่อนราว 250 ล้าน ลบ.ม. หรือ 94% ของความจุ” ผคบ.แม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล กล่าว



นายเฉลิมเกียรติฯ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการระบายน้ำ ประการแรก เมื่อปริมาณน้ำมากกว่า 227 ล้าน ลบ.ม. จะระบายผ่านอาคารส่งน้ำฝั่งซ้าย-ฝั่งขวา ในอัตรา 4 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือคิดเป็น 3.9 แสน ลบ.ม. ต่อวัน แนวทางที่ 2 ระบายผ่านอาคารท่อระบายน้ำ River Outlet ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.50 เมตร ระบายในอัตรา 24-47 ลบ.ม. ต่อวินาที คิดเป็นปริมาณน้ำ 2-4 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งตัว River Outlet นั้นจะควบคุมได้ว่าจะระบายในอัตราที่เท่าไรขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนแม่งัดฯ ที่สำคัญการระบายน้ำผ่านท่อระบายน้ำ จะผ่าน Turbine จำนวน 2 เครื่องที่ผลิตกระแสไฟฟ้าในกับ อ.แม่แตง และ อ.เชียงดาว บางส่วน หากปริมาณน้ำมากกว่า 265 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเกินความจุ ก็จะระบายผ่าน Service Spillway จะระบายลงลำน้ำเดิมของแม่น้ำงัด โดยทั้ง 2 แนวทางในการระบายน้ำนี้จะต้องไม่เกิน 100 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งถ้าเกินกว่านี้จะมีผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ประการสำคัญคือ การระบายน้ำจะต้องดูปริมาณน้ำในลำน้ำปิงประกอบด้วย โดยดูปริมาณน้ำที่ P 75 บ้านช่อแล โดยดูที่ระดับไม่เกิน 80 ลบ.ม. ต่อวินาที ถ้าต่ำกว่าก็จะทำการระบายผ่านลำน้ำแม่งัดไปสมทบกับแม่น้ำปิง ซึ่งเขื่อนแม่งัดฯ อีกทางจะเป็นพื้นที่หน่วงน้ำเพื่อไม่ให้ไปกระทบกับตัวเมืองเชียงใหม่



“หากมีปริมาณฝนหรือมีพายุเข้าเกินคาดการณ์ไว้ จากแนวทางการบริหารที่กล่าวมาข้างต้น เขื่อนแม่งัดฯ จะเก็บน้ำที่ 250 ล้าน ลบ.ม. จะมีช่องว่าอีกราว 15 ล้าน ลบ.ม. ที่จะรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะมากเกินกว่าค่าปกติ ซึ่งได้เผื่อไว้สำหรับการบริหารความเสี่ยงในกรณีที่ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเกินคาดการณ์ ถ้าปริมาณน้ำมามากกว่านั้นก็จะระบายผ่าน Service Spillway โดยในปีนี้วันที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสูงสุดที่ 7.9 ล้าน ลบ.ม. ในวันที่ 12 ส.ค. ก็สามารถระบายได้โดยไม่มีปัญหา ขอให้ประชาชนมั่นใจในการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานซึ่งได้จัดการเต็มที่ มีมาตรการในการับมือฤดูฝน 2565 อย่างชัดเจน โดยจะบริหารให้ดี มีประโยชน์สูงสุด และจะบริการประชาชนอย่างเต็มศักยภาพ” นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผคบ.แม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล กล่าวในที่สุด

เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2565 15:51:39 น. (view: 10336)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง