News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
พิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ เนื่องในเทศกาลออกพรรษาประจำปี 2565
คณะกรรมการดำเนินงานด้านส่งเสริมศาสนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ เนื่องในเทศกาลออกพรรษาประจำปี 2565 โดยมีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พันเอกกฤติคุณ นิโลบล รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 33 หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักเรียน นักศึกษา และพุทธศาสนิกชน ร่วมพิธี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ณ ข่วงวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม ทางขึ้นวัดฝายหิน เมื่อวันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2565
วันเทโวโรหณะ หมายถึง วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ในเวลาเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หลังจากที่พระองค์ทรงจำพรรษาที่นั้นเป็นเวลา 3 เดือน ความสำคัญ วันเทโวโรหณะ เป็นวันที่มีการทำบุญตักบาตรที่พิเศษวันหนึ่ง กล่าวคือ ในพรรษาหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แสดงพระอภิธรรมโปรดพระมารดา และทรงจำพรรษาที่นั้น พอออกพรรษาก็เสด็จลงจากเทวโลกนั้นมายังโลกมนุษย์ โดยเสด็จลงที่เมืองสังกัสส์ ใกล้เมืองพาราณสี ชาวบ้านชาวเมืองทราบข่าวก็พากันไปทำบุญตักบาตรพระพุทธองค์ที่นั้น และเป็นการรับเสด็จพระพุทธองค์ด้วย กล่าวกันว่า ในวันนี้ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก ต่างมองเห็นซึ่งกันและกัน จึงเรียกวันนี้อีกชื่อหนึ่งว่า วันพระเจ้าเปิดโลก คือ เปิดให้เห็น กันทั้ง 3 โลกนั้นเอง
การตักบาตรรับเสด็จพระพุทธเจ้าได้ปฏิบัติสืบเนื่อง ต่อกันมาเป็นประเพณี จนถึงเมืองไทย จึงเรียกประเพณีนี้ ว่า การตักบาตรเทโวโรหณะ เพื่อให้สะดวกในการสื่อความหมายนิยมสั้นๆ ว่า การตักบาตรเทโว ด้วยเหตุนี้ วันเทโวโรหณะจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วันตักบาตรเทโว ซึ่งคำว่า "เทโว" ย่อมาจาก "เทโวโรหนะ" แปลว่าการเสด็จจากเทวโลก การตักบาตรเทโวจึงเป็นการระลึกถึงวันที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาในเทวโลก ประเพณีการทำบุญกุศลเนื่องในวันออกพรรษานี้ ทุกวัดในประเทศไทย ก็มีพิธีเหมือนกันหมด จะผิดกันก็เพียงแต่สถานที่ ที่สมมติว่าเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เท่านั้น เมื่อถึงวันเทโวโรหณะ พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตรที่วัด โดยการปฏิบัติตน เตรียมอาหารในตอนเช้า อาหารที่เตรียมเพื่อตักบาตรเป็นพิเศษในวันนี้ คือ ข้าวต้มมัด และข้าวต้มลูกโยน วัดบางวัดอาจจะจำลองสถานการณ์วันที่ พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกชั้นดาวดึงส์ คือ ประชาชนจะนั่งหรือยืนสองฝั่งทางลงจากอุโบสถ หรือศาลา ให้พระสงฆ์เดินเข้าแถวเรียงลำดับรับบาตรตรงกลาง โดยมีมัคนายก เดินอัญเชิญพระพุทธรูปนำหน้าแถวพระสงฆ์ หลักจากตักบาตรแล้ว มีการอาราธนาศีล สมาทานศีล และรักษาศีล ฟังธรรมและทำสมาธิตามโอกาส เพื่อทำให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส แผ่เมตตา และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติ ผู้ล่วงลับและสรรพสัตว์
เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2565 16:45:51 น. (view: 10338)