News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
ทีมแพทย์ มช.ศักยภาพระดับโลก ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ปลูกถ่ายตับอ่อนรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ได้สำเร็จรายแรก
เชียงใหม่ 25 พ.ย.- คณะแพทยศาสตร์ มช. จับมือภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ รักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ปลูกถ่ายตับอ่อนได้สำเร็จรายแรก หลังให้การรักษาลดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติ โดยไม่ต้องฉีดอินซูลิน คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นนับเป็นแนวทางการรักษาสร้างศักยภาพเทียบชั้นการแพทย์ระดับโลก
ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ)นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. พร้อมทีมแพทย์และเกี่ยวข้องร่วมแถลงความสำเร็จครั้งนี้หลังทำการรักษาคนไข้เด็กตลอดกว่า 2ปีที่ผ่านมา ช่วงการระบาดของโควิด-19 กระทั่งกลับมาใช้ชีวิตปกติที่บ้านขณะนี้ โดยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช.เปิดเผยถึง เคสการปลูกถ่ายตับอ่อน เพื่อรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ได้สำเร็จรายแรกนี้ว่า นับว่าเป็นเคสแรกที่สร้างความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นรายแรกของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และผู้ป่วยได้รับการดูแลของทีมแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (คณะแพทย์ มช.) เป็นอย่างดี นำโดย ผศ.นพ.อานนท์ โชติรสนิรมิต หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ระบบทางตับ ทางเดินน้ำดี และตับอ่อน ,รศ.นพ.สัณหวิชญ์ จันทร์รังสี ,ผศ.นพ.วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์ อาจารย์แพทย์ประจำหน่วยฯ รศ.ดร.พญ.เมตตาภรณ์ พรพัฒน์กุล ประธาน clinical lead team เบาหวาน และรศ.พญ.ประไพ เดชคำรณ หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. พร้อมบุคลากรทางการแพทย์หลายหลายสาขาวิชาแทบจะระบุได้ว่าใช้ทรัพยากรมากที่สุด โดยความสำเร็จของการรักษาในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขยายศักยภาพการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ซับซ้อนของโรงพยาบาลมหาราชฯ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดทีมแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์หลายหลายสาขาวิชาที่ร่วมกันให้การรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มกำลังความสามารถ
ด้าน รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงประไพ เดชคำรณ หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า ผู้ป่วยเด็กรายนี้เป็นผู้ป่วยรายแรกของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ที่หายจากการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ภายหลังได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อน ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อน เนื่องจากเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ไม่ได้รับการตอบสนองต่อการฉีดอินซูลินชนิดเข้าใต้ผิวหนัง แนวทางการรักษาภาวะดังกล่าวได้แก่ การใช้อินซูลินปั๊ม การให้ยาทางช่องท้อง ผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาดังกล่าวในระยะเวลาอันสั้น จึงต้องได้รับอินซูลินเข้าทางหลอดเลือดดำใหญ่อย่างต่อเนื่อง และต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลรวมระยะเวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง ไม่สามารถกลับบ้านได้ และเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่นการติดเชื้อในกระแสเลือดทุก 2-3 สัปดาห์ บางครั้งติดเชื้อรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตผู้ป่วย(ICU) นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานหลายชนิด เช่น ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ จึงเป็นข้อบ่งชี้ในการปลูกถ่ายตับอ่อน เพื่อรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ ตับ ทางเดินน้ำดี และตับอ่อน ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า สำหรับการปลูกถ่ายตับอ่อนนั้น เป็นวิธีเดียวที่สามารถรักษาผู้ป่วยรายนี้ให้หายขาดจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานลักษณะนี้ จึงเป็นการยากที่มีผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย นอกจากนี้การเลือกตับอ่อนจากผู้บริจาคสมองตายนั้น ยังมีความซับซ้อนมากกว่าการปลูกถ่ายตับ หรือไต โดยต้องมีการตรวจความเข้ากันได้ของอวัยวะและกรุ๊ปเลือด รวมถึงอายุและน้ำหนักของผู้บริจาค รวมทั้งลักษณะของตับอ่อนที่นำมาใช้ ต้องไม่มีการบาดเจ็บและไขมันมากจนเกินไป ดังนั้นจากสถิติของสภากาชาดพบว่า ในแต่ละปีพบผู้ป่วยเพียง 1-2 รายเท่านั้น ที่ได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อน ซึ่งทั้งหมดทำการรักษาในสถาบันปลูกถ่ายอวัยวะในกรุงเทพมหานครทั้งหมด
ทันทีที่ได้รับแจ้งว่า มีผู้บริจาคอวัยวะที่เหมาะสม ทางทีมการรักษาและผ่าตัด ได้เตรียมความพร้อมและทำการผ่าตัดตับอ่อนออกมาเพื่อทำการปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยรายดังกล่าว โดยการผ่าตัดประสบความสำเร็จด้วยดี ไม่พบภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด หลังจากผู้ป่วยพักฟื้นในหอผู้ป่วยวิกฤต โดยได้รับการดูแลจากทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพ ทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้ดี พบว่าภายหลังการปลูกถ่ายตับอ่อน ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยกลับมาปกติ โดยไม่ต้องใช้อินซูลินและสามารถกลับบ้านได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์อานนท์ โชติรสนิรมิต หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ระบบตับ ทางเดินน้ำดีและตับอ่อน ได้กล่าวถึงความสำเร็จของศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์ มช. ในปีที่ผ่านมาว่า นอกจากจะประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายตับอ่อนดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เวลานี้ทีมคณาจารย์ หน่วยศัลยศาสตร์ ระบบตับ ทางเดินน้ำดีและตับอ่อน คณะแพทยศาสตร์ มช. เป็นสถาบันการแพทย์เพียงแห่งเดียว ที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายตับเพื่อรักษาผู้ป่วยผู้ใหญ่จากผู้บริจาคที่มีชีวิต เพื่อแก้ปัญหาการรออวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย ซึ่งในประเทศไทยมีอัตราการบริจาคน้อย รวมทั้งยังสามารถทำการผ่าตัดในผู้บริจาคตับ โดยใช้การผ่าตัดผ่านการส่องกล้อง ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของผู้บริจาคตับดีขึ้น ดังนั้นนับเป็นความสำเร็จถึงศักยภาพทางการแพทย์ ของทีมแพทย์ ที่เทียบชั้นระดับโลกได้เลยทีเดียว
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ ตับ ทางเดินน้ำดี และตับอ่อน ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า สำหรับการปลูกถ่ายตับอ่อนนั้น เป็นวิธีเดียวที่สามารถรักษาผู้ป่วยรายนี้ให้หายขาดจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานลักษณะนี้ จึงเป็นการยากที่มีผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย นอกจากนี้การเลือกตับอ่อนจากผู้บริจาคสมองตายนั้น ยังมีความซับซ้อนมากกว่าการปลูกถ่ายตับ หรือไต โดยต้องมีการตรวจความเข้ากันได้ของอวัยวะและกรุ๊ปเลือด รวมถึงอายุและน้ำหนักของผู้บริจาค รวมทั้งลักษณะของตับอ่อนที่นำมาใช้ ต้องไม่มีการบาดเจ็บและไขมันมากจนเกินไป ดังนั้นจากสถิติของสภากาชาดพบว่า ในแต่ละปีพบผู้ป่วยเพียง 1-2 รายเท่านั้น ที่ได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อน ซึ่งทั้งหมดทำการรักษาในสถาบันปลูกถ่ายอวัยวะในกรุงเทพมหานครทั้งหมด
ด้าน"น้องเนย"นางสาวมัธฑริกา จันต๊ะหล้า อายุ19 ปี ชาวลำปาง ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาสำเร็จรายแรกนี้กล่าวแสดงความขอบคุณทีมแพทย์ มช.และทุกส่วนที่ทำให้ตนกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งท่ามกลางความเสี่ยงต่างๆทั้งอาการป่วย สถานการณ์โควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ ซึ่งตอนนี้จะต้องมีระเบียบวินัยในการดูแลสุขภาพตามที่หมอแนะนำรวมทั้งกินยาคุมอาการต่อไป ดีใจสุดชีวิตที่รอดพ้นจากโรคร้ายได้ชีวิตใหม่ครั้งนี้
เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2565 16:59:38 น. (view: 10336)