News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
“เจ้ายาย-เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่” เจ้านายฝ่ายเหนือล้านนานักสังคมสงเคราะห์สตรีต้นแบบ สิ้นแล้วด้วยโรคชราภาพ 93 ปี
เชียงใหม่ 2 ม.ค.-เกิดข่าวเศร้ารับปีใหม่เช้าวันนี้ เมื่อเวลา 07.25 น. ญาติของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เจ้านายฝ่ายเหนือ ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่รู้จักในนาม เจ้ายาย แจ้งว่า เจ้ายายได้ถึงแก่กรรมลงอย่างสงบที่บ้านในตัวเมืองเชียงใหม่ หลังป่วยด้วยโรคชราภาพมาหลายปี ซึ่งทางญาติเตรียมตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อ.เมืองเชียงใหม่ พร้อมขอพระราชทานเพลิงศพตามขั้นตอนต่อไป โดยเจ้ายายเกิดเมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 และถึงแก่กรรมในเช้าวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2566 อายุรวม 93 ปี 7 เดือน เป็นเจ้านายฝ่ายเหนือและนักสังคมสงเคราะห์ชาวไทย ได้รับการประกาศสดุดีเกียรติคุณให้เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2558 โดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ อีกทั้งได้รับการบันทึกชื่อให้เป็นบุคคลสำคัญในสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทยล้านนาเพื่อเป็นเกียรติประวัติและอนุสรณ์แห่งคุณความดี (เจ้ายายมิได้เป็นบุคคลในครอบครัวของผู้สืบสายสกุล ณ เชียงใหม่ สายตรงและไม่ได้เป็นบุคคลในครอบครัวของประธานราชตระกูล ณ เชียงใหม่ เจ้ายายเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือที่สืบเชื้อสายเจ้านายฝั่ง ณ ลำพูน ตามบิดาของท่าน คือเจ้าเมืองชื่น ณ ลำพูน ต่อมาได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น ณ เชียงใหม่ โดยพระราชานุมัติในเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าประเทศราชนพบุรีศรีนครพิงค์ และเจ้าเมืองชื่นได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าราชภาคินัย ในกาลต่อมา)
ผ่านมาเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้อุทิศตนเป็นแบบอย่างในการเป็นพลเมืองที่ดี บำเพ็ญประโยชน์ต่อชาติและสังคมส่วนรวมมีความกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด สมกับที่เป็นสตรีสูงศักดิ์ งามพร้อมด้วยกริยามรรยาทแบบกุลสตรีไทย ทั้งยังได้ดำรงเกียรติแห่งวงศ์ตระกูลได้อย่างสมบูรณ์ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ โปรดการแต่งกายแบบไทยล้านนาและรักที่จะส่งเสริมให้คนไทยรุ่นใหม่รักในความเป็นไทยและหวงแหนรักษ์ในวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน เจ้ายายเป็นที่รักใคร่และนับถือของชาวบ้านและประชาชนทั่วไป ในปีพุทธศักราช 2564 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเกียรติคุณยกย่อง เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ให้เป็นบุคคล "ค่าแห่งแผ่นดิน" ในด้านการส่งเสริมศาสนาและวัฒนธรรม
เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เกิดในวันวิสาขบูชาซึ่งเป็นวันเพ็ญจึงได้รับขนานนามว่า "ดวงเดือน" เป็นธิดาคนที่สามในเจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่) ผู้เป็นโอรสในเจ้าราชภาติกาวงศ์ (เจ้าบัวรวงศ์) กับเจ้าฟองนวล เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่มีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมอุทรหม่อมมารดา หม่อมเทพ หรือ หม่อมจันทร์เทพ ณ เชียงใหม่ ตามลำดับ คือ เจ้าอาทิตย์ เจ้านิภาพันธุ์ และเจ้าประเวศ ณ เชียงใหม่ ตั้งแต่เยาว์วัย เจ้าดวงเดือน ได้รับความเมตตาและอนุบาลเป็นอย่างดีจาก เจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นพระราชธิดาในเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร กับ แม่เจ้าจามรีวงศ์ ณ เชียงใหม่ หรือ เจ้าจามรีวงศ์ โดยเจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ได้ทรงรับเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นพระธิดาบุญธรรมและทรงให้ความรักและอภิบาลเป็นอย่างดี เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ สมรสกับพิรุณ อินทราวุธ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ มีบุตร-ธิดา 4 คน คือ นางภาคินี อัทธพินิจ (น้ำอ้อย), เจ้าภาคินัย ณ เชียงใหม่ (น้ำผึ้ง) บุตรชาย ประธานมูลนิธิเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่, นางเดือนเพ็ญ ภวัครานนท์ (น้ำมิ้น) และนางพวงเดือน ยนตรรักษ์ (น้ำตาล) อดีตนักแสดง
เมื่ออดีตเจ้าดวงเดือน ถือเป็นสตรีคนแรกในส่วนภูมิภาคที่มีบทบาททางการเมืองเทียบเท่าบุรุษ ต่อมาต้องรับหน้าที่บริหารหนังสือพิมพ์ “เสียงเชียงใหม่” ภายหลังได้รับการคัดเลือกให้เป็นอุปนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคเหนือและอุปนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาค ในยุคที่วิทยุและโทรทัศน์เริ่มได้รับความนิยม เจ้าดวงเดือน ได้มีโอกาสจัดรายการวิทยุที่มีสาระชี้นำปัญหาสังคม เป็นรายการที่มีสไตล์แตกต่างกันถึง 4 รายการ ด้วยองค์ความรู้ที่หลากมิติรอบด้าน แนวคิดและวิธีนำเสนอเฉียบคม รายการวิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America) จึงมอบเหรียญ VOA. ให้ในฐานะที่เป็นนักจัดรายการดีเด่น
ปี 2513 สอบเป็นผู้พิพากษาสมทบคดีเด็กและเยาวชนได้ที่ 1 จึงเป็นสตรีคนแรกทางภาคเหนือที่ปฏิบัติหน้าที่นี้ อบรมเด็กเป็นอย่างดีจนได้รับโล่ผู้พิพากษาผู้รักษาความเที่ยงธรรม ปี 2517 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรียกร้องให้สังคมหันมาสนใจร่วมแก้ไขปัญหาที่ถูกซ่อนไว้อย่างจริงจัง อาทิ ปัญหาสตรีถูกตกเขียว หมู่บ้านดอกคำใต้ รณรงค์ให้สตรีสามารถลุกขึ้นมาสร้างกลุ่มและพัฒนาตนเองไปสู่ความเข้มแข็ง ช่วยรณรงค์วางแผนครอบครัวจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าสำนักงานเขต สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ภาคเหนือ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทพิทักษ์ความเป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีเด็กไทยอายุ 16 ปี ถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรม 19 ศพ ที่วัดไทยในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา เพราะเห็นว่าถูกจับเป็นแพะจึงรณรงค์ด้วยวิธีการและรูปแบบต่างๆ เพื่อหาเงินช่วยสู้คดีนานถึง 16 ปี ศาลจึงตัดสินยกฟ้องว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการ คณะทำงาน มูลนิธิสมาคม สถาบันการศึกษา องค์กร กิจกรรมต่างๆ แต่เรื่องที่ให้ความสำคัญอย่างจริงจังต่อเนื่อง คือ งานศิลปวัฒนธรรม รู้คุณค่าของมรดกวัฒนธรรมไทย-ล้านนา ที่ได้สัมผัสซึมซับมาแต่ครั้งเยาว์วัยได้นำจุดแข็งมาเผยแพร่อย่างเป็นวิถีปฏิบัติ เช่น การพูดคำเมือง แต่งกายด้วยอาภรณ์พื้นเมือง นำการจัดเลี้ยงแบบขันโตกมาประชาสัมพันธ์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ทำให้เด็กและเยาวชนภูมิใจในอัตลักษณ์ ส่งผลให้เกิดมาตรฐานบริการ คนต่างชาติ ต่างถิ่นที่มาเชียงใหม่ต้องการสัมผัสบรรยากาศแบบขันโตกทุกราย เจ้าดวงเดือนฯ นำความก้าวหน้าสู่วงการวัฒนธรรมจังหวัดมาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง เป็นผู้ริเริ่มจัดงานไม้ดอกไม้ประดับหรืองานพฤกษชาติจังหวัด จนกระทั่งปัจจุบัน จึงเป็นประธานสภาวัฒนธรรมคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่และของประเทศไทย
ด้านการพัฒนาชุมชนและสังคม ด้วยเห็นว่ายังมีภาวะว่างงานในกลุ่มสตรีหลังฤดูเก็บเกี่ยว จึงเปิดใต้ถุนบ้านเป็นโรงทอผ้า ซึ่งผ้าไหมเป็นผ้าที่งดงามน่าหลงใหลยิ่ง แต่กว่าจะได้เส้นด้ายใยไหมจำเป็นต้องต้มรังฆ่าตัวแม่ทำบาปก่อน ดังนั้น เจ้าดวงเดือนฯ จึงรณรงค์ที่จะอนุรักษ์การทอผ้าฝ้ายลายโบราณและสืบสานเคล็ดวิธีการย้อมสีด้วยวิธีธรรมชาติ ศึกษาจริงจังจนยกมาตรฐานการทอผ้า ขยายผลม่อนดวงเดือนเป็นโรงทอฝ้ายดวงเดือน 2 โรง ต่อยอดเป็นศูนย์อบรมหัตกรรมพื้นเมืองจอมทอง จนได้รับการยกย่องจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นกิจกรรมที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าและสร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวบ้านไปพร้อมกัน.
เขียนเมื่อ 02 มกราคม 2566 16:55:55 น. (view: 10341)