News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ สัปดาห์ที่ 1 วันที่ 1 – 7 ม.ค. 2566 และการเตรียมความพร้อมรับรองการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวจีน และต่างชาติ
นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ สัปดาห์แรกของปี 2566 ทั้งหมด 3,081 ราย แยกเป็นผู้ป่วยติดเชื้อยืนยัน (ตรวจ RT-PCR) 15 ราย และผู้ป่วยติดเชื้อเข้าข่าย (ตรวจ ATK) 3,066 ราย ถ้าเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อน ๆ ย้อนหลัง
7 สัปดาห์ ถือว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ แตกต่างจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของ
เชื้อโรค รวมทั้งเป็นช่วงลดระดับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง อาจทำให้มาตรการการป้องกันโรคส่วนบุคคลของประชาชนลดความเข้มข้นลงด้วย
ผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล คือ ผู้ป่วยยืนยันทั้งหมด 15 ราย (ผู้ป่วยสีเหลือง และแดง) ซึ่งถือว่าน้อยกว่ายอดเตียงเหลือง และแดง ในโรงพยาบาลทั้งหมดประมาณ 600 กว่าเตียง
ผู้เสียชีวิตโรคโควิด-19 สัปดาห์แรกของปี 2566 จำนวน 3 ราย อัตราป่วยร้อยละ 0.09 ทั้งหมดเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 (Died from COVID) เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ทั้ง 3 ราย ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน 1 ราย และฉีดวัคซีน 4 เข็ม 2 ราย แต่มีโรคประจำตัว คือ โรคไตเรื้อรัง ทั้ง 2 ราย
ข้อมูลผลการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ ยอดการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง
ยอดการฉีดวัคซีนนับถึงปี 2565 ทุกกลุ่มวัยฉีดเข็ม 2 แล้ว 1,650,015 ราย (ร้อยละ 88.61) ส่วนเข็มกระตุ้น (เข็ม 3) ฉีดแล้ว 758,758 ราย (ร้อยละ 40.75) กลุ่มผู้สูงอายุ ฉีดวัคซีนเข็ม 2 แล้ว 282,992 ราย (ร้อยละ 86.36) เข็มกระตุ้น (เข็ม 3) ฉีดแล้ว 158,775 ราย (ร้อยละ 48.45) ส่วนวัคซีนใหม่สำหรับเด็ก 6 เดือน-4 ปี ฉีดเข็ม 1 ไปแล้ว 1,235 ราย (ร้อยละ 2.81) โดยข้อมูลการฉีดวัคซีนของคนเชียงใหม่ในช่วงการรณรงค์
“หนาวนี้ มาป้องกันโควิดกันเถอะ” เริ่มตั้งแต่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2565 ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนทุกเข็มเพิ่มจากช่วงก่อนรณรงค์ 32,887 เข็ม ส่วนใหญ่เป็นการฉีดเข็มกระตุ้นตั้งแต่เข็ม 3 ขึ้นไป มีผู้เข้าฉีดเข็ม 1 และเข็ม 2 อยู่จำนวนหนึ่ง โดย 5 อำเภอแรกที่มีประชาชนเข้ารับการฉีดมากที่สุด ได้แก่ เมืองเชียงใหม่
แม่ริม แม่แตง สันทราย และพร้าว ตามลำดับ ถือว่าคนเชียงใหม่ให้ความสนใจในการเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคในระยะนี้ โดยในปี 2566 ประชาชนทุกกลุ่มวัยยังสามารถ Walk in เข้าไปรับการฉีดวัคซีนทุกเข็ม โดยเฉพาะวัคซีน
เข็มกระตุ้นหลังฉีดเข็มก่อนหน้ามาแล้วมากกว่า 4 เดือน หรือติดเชื้อโควิด-19 รักษาหายแล้วมากกว่า 3 เดือน ขอเข้ารับการฉีดเข็มต่อไปได้ทุกโรงพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ให้โทรสอบถามวันและเวลาการให้บริการที่โรงพยาบาลนั้น ๆ ก่อนเข้าไปรับบริการทุกครั้ง
สำหรับมาตรการเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน และต่างชาตินั้น ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 1/2566 วันที่ 4 มกราคม 2566 คณะกรรมการได้อนุมัติ
5 มาตรการหลักรองรับนักท่องเที่ยวดังกล่าว ประกอบด้วย
1. จัดแคมเปญ “ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นบุคลากรภาคบริการด้านการท่องเที่ยว” โดยกำหนดฉีดระหว่างวันที่ 23-29 มกราคม 2566 ณ อาคารหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยเตรียมวัคซีนรองรับวันละ 3,000 โดส
2. การเปิดจุดฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป ยังคงเปิดจุด Walk in ต่อเนื่อง ทั้งที่โรงพยาบาล
นครพิงค์ โรงพยาบาลแม่และเด็ก โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ และโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ให้บริการ
ทุกวันในเวลาราชการ
3. เฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 กลายพันธุ์ ในผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เข้าระบบรักษาในโรงพยาบาล
ในจังหวัดทุกราย และตรวจจากน้ำทิ้ง และจุดสัมผัสบนเครื่องบินทุกสายการบินที่มาจากประเทศจีน
4. เตรียมความพร้อมด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ในการเฝ้าระวังนักท่องเที่ยว โดยปฏิบัติตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ด้วยการตรวจการทำประกันชีวิตมูลค่า 10,000 ดอลล่าห์สหรัฐ ต้องครอบคลุมการรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 ในประเทศไทย
5. เร่งสื่อสารให้ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และกลุ่มเปราะบาง ยังคงปฏิบัติตามหลัก DMTH อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มาตรการ 5 ข้อนี้ จะสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนเชียงใหม่อย่างแน่นอน โดยเฉพาะ
การเร่งฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรภาคบริการด้านการท่องเที่ยวจะเป็นการยกระดับภูมิคุ้มกัน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยว
เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2566 14:01:21 น. (view: 10337)