News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
ชาวลาหู่ บ้านปางกื้ด อ.แม่แตงร่วมเฉลิมฉลองปีใหม่เทศกาลกินวออย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งหลังโควิดดีขึ้น
เชียงใหม่ 12 ม.ค.- ที่บ้านปางกื้ด หมู่ 16 ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นายชัยณรงค์ นันตาสาย นายอำเภอแม่แตงพร้อมด้วยนายจักริน วังวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ นางศิริพร ตันติพงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ นางพัชรี ใบยา อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่และคณะร่วมพิธี การเฉลิมฉลองปีใหม่ ลาหู่(มูเซอ)หรือประเพณี เขาะเจ๊าเว "ปีใหม่การกินวอ" ประจำปี โดยมีหัวหน้าชนเผ่านายกำธร จะซา และผู้ใหญ่บ้าน นายสิละ จะหย่อ นำสมาชิกหมู่บ้านร่วมอธิษฐานก่อนเฉลิมฉลองตามประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่บรรดาญาติมิตรได้กลับมาร่วมงานกันที่บ้านอย่างพร้อมเพรียง เทศกาลของลาหู่ค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แตกต่างจากชนเผ่าอื่นๆ ซึ่งปีใหม่หรือการกินวอนี้ มีความสำคัญต่อชาวลาหู่อย่างยิ่ง เพราะเป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าส่วนมากจะอาศัยอยู่จังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ เป็นต้น ปีนี้จัดเต็มรูปแบบประเพณีหลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นทำให้คึกคักอบอุ่น
ผู้ใหญ่บ้านกล่าวว่า ปีใหม่ของลาหู่ไม่ได้กำหนดวันไว้อย่างเฉพาะเจาะจงว่าจะจัดขึ้นวันไหน แต่จะมีการตกลงร่วมกันให้จัดในช่วงเวลาที่สมาชิกของกลุ่มตนเสร็จสิ้นจากภาระกิจการงานต่างๆ ตามอาชีพที่ทำอยู่ ที่บ้านปางกื้ดแห่งนี้ ก็มีอาชีพแลูกเก็บชาและกาแฟด้วย โดยเฉพาะชาระมิงค์ ที่ขึ้นชื่อของเชียงใหม่ ปีนี้จัดระหว่าง 1-14 ม.ค.
ทั้งนี้ในงานเลี้ยงวันปีใหม่ของ ลาหู่ จะมีการใช้ หมูดำ เป็นหลักในการสังเวยและการเลี้ยงกัน จะมีการฆ่าหมูดำ แล้วเอาส่วนที่เป็นเนื้อหมูและหัวของหมู นำไปเซ่นสังเวยต่อ เทพเจ้าอื่อซา ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ชาวลาหู่ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก พร้อมกับข้าวเหนียวนึ่งที่นึ่งแล้วมาตำให้เหนียว เมื่อเสร็จแล้วก็ปั้นให้เป็นก้อนกลมๆ เรียกว่า "อ่อผุ" หรือ "ข้าวปุ๊ก" แล้วจึงน้ำเนื้อหมูดังกล่าว มาปรุงหรือทำเป็นอาหารเลี้ยงกันอย่างเต็มที่
เทศกาลฉลองปีใหม่นี้ มีกิจกรรมอื่นๆอีก คือ มีการจุดเทียน เพื่อสวดอ้อนวอนเทพเจ้าที่ชาวลาหู่เคารพนับถือ เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวหรือหมู่บ้านของตนมีความสุข มีความอุดมสมบูรณ์ มีฝนฟ้าตกต้องตามฤดู เป็นต้น
ประเพณีกินวอหรือการฉลองปีใหม่นี้ หากมีชาวลาหู่ (มูเซอ) ในหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน ได้จัดงานขึ้นพร้อมกันกับหมู่บ้านต้นเอง ก็จะมีพิธีกรรมเพิ่มขึ้นมา เรียกว่า "อ่อรี้เตดะเว" หมายถึง การเดินทางไปเยือนหมู่บ้านอื่นพร้อมกับห่อเนื้อหมู และ อ่อผุ (ข้าวปุ๊ก) ไปทำบุญกับเพื่อนบ้านด้วย พร้อมกันนั้นก็มีการรดน้ำให้ผู้อาวุโส มีการเต้นรำรอบลานพิธีของหมู่บ้านั้น ก่อนจะกลับมาหมู่บ้านของตนเอง และอีกไม่กี่วันเพื่อนบ้านก็จะมาหมู่บ้านของตนบ้างและจะมีการประกอบพิธีที่เรียกว่า "อ่อรี้เตดะเว" ขึ้นเป็นการตอบแทนเช่นเดียวกัน ปัจจุบันนี้ก็ยังมีการจัดประเพณีกินวอ 2 ช่วงเหมือนเดิม คือ เขาะหลวงหรือ "ปีใหญ่"ฉลองปีใหม่สำหรับผู้หญิง และ เขาะน้อยหรือ "ปีเล็ก"สำหรับผู้ชาย เช่นเดียวกับสมัยเก่า แต่ว่า ทั้งสองเพศสามารถเข้าร่วมด้วยทั้งหมด ซึ่งก็หมายถึง ต่างฝ่ายต่างได้ฉลองกันถึงสองหนนั่นเองเนื่องจากว่าปัจจุบันการเดินทางสะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล เมื่อทราบข่าวแล้ว ก็สามารถจะมาร่วมงานได้ภายในเวลาที่หมู่บ้านของตนได้กำหนดไว้.
เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2566 10:01:28 น. (view: 10337)