News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
เชียงใหม่ชวนแอ่วงาน “สตรอว์เบอร์รี และของดีอำเภอสะเมิง ครั้งที่ 20 ประจำปี 2566” 11-14 กุมภาพันธ์นี้ เผยผลิตน้อยความต้องการสูงราคาดีเกษตรกรยิ้ม
เชียงใหม่ 20 ม.ค.- ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ มีการแถลงข่าวการจัดงาน “สตรอว์เบอร์รี และของดีอำเภอสะเมิง ครั้งที่ 20 ประจำปี 2566” ที่กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 11-14 กุมภาพันธ์นี้ ณ ที่ว่าการอำเภอสะเมิง ตำบลสะเมิงใต้ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่พร้อมด้วยนายณฐกร ภัทรวนนท์ นายอำเภอสะเมิง นายวิทยา นาระต๊ะ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอสะเมิง ร่วมกันแถลง โดยเกษตรจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า สถานการณ์การปลูกสตรอว์เบอร์รี มีพื้นที่ปลูกในปี2566 ทั้งสิ้น 6,977 ไร่ มีพื้นที่มีปลูกหลักอยู่ในอำเภอสะเมิง กัลยานิวัฒนา แม่วาง แม่แจ่ม ฝาง และแม่ริม โดยมีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 23.62 (1,333 ไร่) ผลผลิตรวมทั้งจังหวัดราว 19,049 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 21.92 (3,425 ตัน) ซึ่งอำเภอสะเมิงมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดกว่า 4,010 ไร่ เกษตรกร 660 ครัวเรือน ผลผลิตประมาณ 10,025 ตัน ปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากพื้นที่การปลูกเพิ่มมากขึ้น และมีการส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชน ในด้านการรวมกลุ่ม สนับสนุนปัจจัยการผลิตรวมถึงการอบรมให้ความรู้ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ รวมถึงหน่วยงานบูรณาการส่วนต่างๆ และเกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รี ร่วมมือในการผลิตสตรอว์เบอร์รีที่ปลอดภัย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและได้มีการส่งเสริมการปลูกสตรอว์เบอร์รีในรูปแบบแปลงใหญ่ในพื้นที่ตำบล บ่อแก้ว เพื่อเป็นการยกระดับการแข่งขันในระบบธุรกิจเกษตร ถือว่าตอนนี้ผลผลิตทุกส่วนแม้จะตกเกรดก็สามารถแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้และตลาดต้องการสูงเฉพาะในประเทศก็ไม่เพียงพอ ยิ่งปีนี้ราคาดีมากเฉลี่ยคละเกรด กก.ละ 100บาท คัดเกรดมีราคาสูงถึง 300-400บาท
นายอำเภอสะเมิง กล่าวว่า อำเภอประสานเตรียมพร้อมรองรับทุกด้านเต็มที่ ชาวอำเภอสะเมิงจึงขอเชิญชวนมาเที่ยวงานสตรอว์เบอรี่ และของอำเภอสะเมิงครั้งที่ 20 ปีนี้ จะได้สัมผัสกับบรรยากาศอันหนาวเย็นกับแหล่งปลูกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ อีกทั้งมีกิจกรรมมากมายที่เป็นของดีของอำเภอ อาทิ การประกวดของดีผลผลิตทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์แปรรูปและการจัดแสดงนิทรรศการจำหน่ายสินค้าจากเกษตรกร ประกวดธิดาชนเผ่าพร้อมสัมผัสวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของคนในชุมชน ซึ่งงานนอกจากจัดตามปกติแล้วยังมีารถ่ายทอดและจัดทางออนไลน์เหมือนช่วงโควิด-19 ระบาดไปด้วย เพราะในออนไลน์ตอนนี้สามารถสร้างโอกาสทางรายได้แก่เกษตรกรได้เพิ่มเกือบเท่าตัว ซึ่งคาดว่า ภาพรวมทั้งหมดจะทำรายได้จากการจัดงานครั้งนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 2,100 ล้านบาท
ด้านนายวิทยา นาระต๊ะ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอสะเมิง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การปลูกสตรอว์เบอร์รีเป็นไม้ทรงพุ่มขนาดเล็ก เติบโตโดยการแตกกอ ดอกสีขาว ผลมีสีแดง เป็นมัน มีเมล็ดติดอยู่ที่ผิวด้านนอกของผล มีกลิ่นหอมเมื่อผลสุก ต้องการอุณหภูมิต่ำในช่วงพัฒนาตาดอก และการติดผล ปลูกได้ในดินร่วนซุย มีการระบายน้ำดี พื้นที่ควรมีระดับความสูงจากน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป อุณหภูมิ 10-25 องศาเซลเซียส (มีอากาศเย็นตลอดปี) โดยเริ่มปลูกในช่วงเดือนปลายสิงหาคม – ปลายตุลาคม เริ่มเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงช่วงเดือนเมษายนของปีถัดไป มักจะเก็บเกี่ยวเมื่อผลสุกประมาณ 75-80 เปอร์เซนต์ โดยพิจารณาจากสีผลที่เปลี่ยนเป็นสีชมพูอมแดง พันธุ์ที่นิยมปลูกในเชียงใหม่ คือ พันธุ์พระราชทาน 80 มีลักษณะผลเป็นรูปทรงกรวย ปลายแหลม น้ำหนักผลเฉลี่ย 30-35 กรัม มีความหวานเฉลี่ย 12.85 องศาบริกซ์ ซึ่งนิยมรับประทานผลสด ทนทานต่อโรคแอนแทรคโนส และราแป้ง ผลผิลิตต่อไร่ประมาณ 3,000 กก./ไร่ ซึ่งยอมรับว่ายุคปัจจุบันเพิ่มโอกาสแก่เกษตรกรมาก็ไม่เฉพาะขายผลผลิตเท่านั้น ยังสามารถเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยวในชุมชนด้วยหลายสวนจึงเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปพร้อมๆกัน ภาพรวมปีหนึ่งทำรายได้กว่าพันล้านบาท.
เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2566 15:33:21 น. (view: 10336)