News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจง “แนวทางการจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น จังหวัดเชียงใหม่” พร้อม แนะนำประชาชนป้องกันตนเอง และทำห้องปลอดฝุ่น เพื่อป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และกลุ่มเปราะบางที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและระบบหัวใจ
นายธนิสร ธิติปภาดา หัวหน้ากลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ช่วงนี้ พบว่า PM2.5 เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ เนื่องจากปัจจัย
ทางอุตุนิยมวิทยา ได้แก่ เพดานการลอยตัวอากาศเริ่มต่ำลง ความเร็วลมอ่อน และการยกตัวของอากาศไม่ดี
ทำให้อากาศนิ่ง และมีการสะสมของฝุ่นละออง PM2.5 มากขึ้น ตามนโยบายท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีเป้าประสงค์จะสนับสนุนให้ทุกองค์กรพัฒนาและดำเนินการห้องปลอดฝุ่น (Safety Zone) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ดำเนินการจัดทำ
“แนวทางการจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น จังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์ ส่งเสริม สร้างกระแส และเพิ่มความรู้ แก่ประชาชน ภาคราชการ และภาคเอกชน ในการสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นอย่างถูกต้อง สื่อสารเตือนภัยแก่สาธารณชนให้มีการป้องกันสุขภาพอย่างเหมาะสม และใช้ระบบสาระสนเทศเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากร และการเข้าถึงห้องปลอดฝุ่น เริ่มต้นดำเนินงานระยะแรก ปี 2565 ทดลองใช้งาน
ในสถานบริการสาธารณสุขภาครัฐ 148 แห่ง และในครั้งนี้ เข้าระยะที่ 2 มีแผนงานเชิญชวน ภาครัฐทุกสังกัด ภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานห้องปลอดฝุ่น โดยจะมีการประชุม
การจัดทำห้องปลอดฝุ่น ในวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ ทั้งนี้ ให้เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงแนวทางการจัดทำ
ห้องปลอดฝุ่นได้ ด้วยการลงทะเบียนตาม link : https://forms.gle/syjCp9HKgdmXDk4h6 เพื่อเข้ารับรหัส conference ต่อไป
ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นำโดยนายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ มีความเป็นห่วงสุขประชาชนชาวเชียงใหม่ แนะวิธีดูแลสุขภาพตนเอง และบุคคลในครอบครัวเพื่อรับมือกับฝุ่น PM2.5 ด้วยวิธีดังนี้ 1. ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนออกจากบ้าน
ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน “Air4Thai” หรือแอปพลิเคชั่น “AirCMI” และปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด 2. สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น เช่น หน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95
ขณะอยู่กลางแจ้ง 3. ควรหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งให้เปลี่ยนมาออกกำลังกายภายในอาคารแทน 4. ดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ
5. สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรสำรองยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
6. สังเกตตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์
นายธนิสร กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนสามารถทำห้องปลอดฝุ่น เพื่อลดความเสี่ยงในการสูด PM2.5 เข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะในบ้านที่มีสมาชิกที่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยการจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นสำหรับประชาชนในบ้านเรือนมีแนวทางดังนี้ เลือกห้องที่ห่างจากแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง และไม่มีแหล่งกำเนิดมลพิษภายในห้อง หรือกิจกรรมอื่นที่เป็นแหล่งกำเนิดควัน , ควรเลือกห้องที่มีประตู - หน้าต่างและฝุ่นน้อยที่สุด เพื่อลดการแลกเปลี่ยนของอากาศภายนอกเข้ามาในอาคาร (Air Exchange)
หากห้องมีเครื่องปรับอากาศควรเลือกห้องนั้น ไม่มีวัสดุที่เป็นแหล่งสะสมของฝุ่นภายในห้อง เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน พรม ฯลฯ สำหรับการเตรียมห้อง 1) ทำความสะอาดห้องโดยใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดตามบริเวณต่างๆ เป็นประจำ ไม่ควรใช้ไม้กวาดหรือเครื่องดูดฝุ่นเพราะจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย 2) ควรงดกิจกรรม
ที่ก่อให้เกิดฝุ่นหรือควันเพิ่มมากขึ้น เช่น เผาเศษวัสดุทางการเกษตร จุดเทียน จุดธูป รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ
ที่เป็นแหล่งก่อกำเนิดควัน สำหรับห้องที่มีเครื่องปรับอากาศควรตรวจสอบและทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศทุกเดือน ล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง 3) ปิด ประตูหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันอากาศภายนอกเข้าไปในห้อง และอาจเพิ่มประสิทธิภาพการลดฝุ่นในห้อง เช่น การใช้เครื่องฟอกอากาศ
ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวควรมีขนาดที่เหมาะสมกับห้อง
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ กลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โทร 053-211048-50 ต่อ 124
เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2566 16:02:08 น. (view: 10340)