News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ วางมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 66 ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สั่งดูแลเชิงรุก หาตลาดและช่องทางกระจายสินค้า หวังให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาสูง ไม่ถูกกดราคา
นางภูษณิศ ไชยมณี ผู้อำนวยการกลุ่มกำกับและการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงมาตราการป้องกันและแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2566 ว่าในขณะนี้ได้มีการจัดทำแผนขอรับการจัดสรรเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โครงการบริหารจัดการผลไม้ (มะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย) จำนวน 3 โครงการ โดยตั้งเป้าหมายผลผลิต โครงการละ 5,000 ตัน วงเงินต่อโครงการ 15,450,000 บาท
สำหรับผลผลิตที่จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด คือ ลำไย ด้วยจากการประเมินพบว่าในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ จะมีผลผลิตลำไยกว่า 1 ล้านตัน เฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จะมีผลผลิตลำไยออกในฤดูกาลห้วงเดือน กรกฎาคม-กันยายน ประมาณ 2 แสนกว่าตัน และออกนอกฤดูกาลเดือนตุลาคมอีก 1.8 แสนตัน ซึ่งนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กำชับให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ มีการเฝ้าระวังและเข้าไปดูแลเกษตรกรทั้งด้านราคา การตลาด และการกระจายผลผลิต ของพืชผลทุกชนิด เพื่อไม่ให้พี่น้องเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน และขายผลผลิตได้ในราคาสูง เช่นเดียวกับผลผลิตอื่นที่ออกสู่ตลาดไปในห้วงก่อนหน้านี้ อย่างส้มที่แม้ว่าปีนี้จะมีผลผลิตที่สูงกว่าปีแล้วถึง 2 หมื่นตัน แต่ก็ไม่ถูกกดราคา และสามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าปีที่แล้ว
ขณะที่ ลิ้นจี่ มีการประเมินว่าในปีนี้จะมีผลผลิตออกแค่ 2 หมื่นกว่าตัน ซึ่งลดลงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนได้ปรับเปลี่ยนจากการปลูกลิ้นจี่ไปปลูกพืชตัวอื่นที่มีราคาสูงกว่า เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพืชผักเมืองหนาว
ส่วน มะม่วง อาจมีการออกผลผลิตล่าช้าเนื่องจากสภาพอากาศ จากปกติที่ออกผลผลิตเดือนมีนาคม-เมษายน จะเลื่อนไปเป็นเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับผลไม้ชนิดอื่นของภาคตะวันออกอย่างเงาะ มังคุด และทุเรียน อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าสถานการณ์ด้านราคาของมะม่วงในปีนี้จะสูงขึ้น เนื่องจากตลาดส่งออกเริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
///////////////////////////
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่/ข่าว-ภาพ
29 มีนาคม 2566
เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2566 09:46:22 น. (view: 10336)