News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
องค์การยูนิเซฟประเทศไทยจับมือกับมูลนิธิรักษ์ไทยในการนำร่อง “ โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างปลอดภัยของเยาวชนในโรงเรียนและชุมชน (Promoting safe and inclusive adolescent participation in schools and communities) ”@เชียงใหม่
เชียงใหม่ 3 เม.ย.- ที่ห้องประชุมเอื้องฟ้า โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นางสาวจอมขวัญ ขวัญยืน เจ้าหน้าที่ฝ่ายการพัฒนาวัยรุ่นและการมีส่วนร่วม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย พร้อมด้วยนางสาวสุนีย์ ตาฬวัฒน์ ผู้ประสานงานโครงการอาวุโส มูลนิธิรักษ์ไทย นางรชยา ฮั่นตระกูล หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ นายอรุณไสว ปินอินต๊ะ รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และนายพรเลิศ ชุตินธรางค์กูล ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่(สพม.เชียงใหม่)ร่วมกันเปิดการปฐมนิเทศเชิงปฏิบัติการ “การส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างปลอดภัยของเยาวชนในโรงเรียนและชุมชน” (Promoting safe and inclusive adolescent participation in schools and communities) ที่จัดระหว่าง วันที่ 3-5 เมษายน 2566 เวลา 09.00 – 16.00 น.เพื่อชี้แจงโครงการและสร้างความเข้าใจ เสริมศักยภาพทีมดำเนินงานเห็นความสำคัญการมีส่วนร่วมของวัยรุ่น ทั้งในระดับโรงเรียนและระดับชุมชน โดยมีผู้เข้าร่วมจากตัวแทนสภานักเรียนจำนวน 20 คน โรงเรียนมัธยมสันกำแพง และ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนจำนวน 10 คน สภาเด็กเยาวชนตำบลร้องวัวแดง สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ ครู และอาจารย์ จำนวน 10 คน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจำนวน 10 คน สพม. สปพ. เขต 1 ศึกษาธิการจังหวัด เทศบาล พัฒนาสังคมฯ นักจิตวิทยา บ้านพักเด็กและครอบครัว มูลนิธิรักษ์ไทยจำนวน 8 คน องค์กรยูนิเซฟและทีมวิทยากรอีก 4 คน
สำหรับโครงการครั้งนี้ทางองค์การยูนิเซฟประเทศไทยร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย จัดขึ้น โดยมองว่า การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของเยาวชนเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่แข็งแรงและยั่งยืน ในประเทศไทยกลไกการมีส่วนร่วมและการเป็นตัวแทนยังไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของกลุ่มเยาวชนที่มีความหลากหลายได้ จากรายงานการมีส่วนร่วมของเยาวชนที่จัดทำโดยยูนิเซฟ ในปี 2565 เปิดเผยว่า การมีส่วนร่วมที่มีความหมายและเป็นระบบของเยาวชนในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับยังพบอุปสรรคในหลายด้าน อาทิ 1) พื้นที่การมีส่วนร่วมที่ยังมีจำกัด 2) ผู้กำหนดนโยบาย องค์กรภาคประชาสังคม และผู้ปฏิบัติงานเด้านยาวชนที่เกี่ยวข้องยังขาดความเข้าใจและทักษะในการสร้างความมีส่วนร่วมของเยาวชน 3) เยาวชนยังขาดความรู้และทักษะในการไปมีส่วนร่วม และเยาวชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมเพื่อตัดสินใจในเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อตัวเยาวชนเอง และสุดท้าย 4) การขาดความไว้วางใจระหว่างผู้ใหญ่และเยาวชน โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการมีส่วนร่วมอย่างปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นในโรงเรียนและชุมชนเป้าหมาย โดยทำงานร่วมกับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบอย่างเช่น ครู ผู้บริหารโรงเรียน และผู้กำหนดนโยบาย ในการออกแบบและดำเนินการการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการเข้าร่วมของเยาวชน
นางสาวจอมขวัญ ขวัญยืน เจ้าหน้าที่ฝ่ายการพัฒนาวัยรุ่นและการมีส่วนร่วม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การให้เยาวชนเจ้าของปัญหาเข้ามาร่วมคิด ร่วมให้ความเห็น ร่วมตัดสินใจและขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขในฐานะเจ้าของปัญหาจึงยิ่งมีความสำคัญอย่างมาก ยูนิเซฟได้พัฒนาคู่มือเรื่องการสร้างความเข้าใจร่วมกันในการสร้างการมีส่วนร่วมของวัยรุ่นในกระบวนการตัดสินใจในบริบทเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (Building a Shared Understanding of Adolescent Participation in Decision-Making in East Asia Pacific) เพื่อเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความเข้าใจและทำงานร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก โดยในปีที่ผ่านมาได้อบรมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมไปแล้วกว่า 108 คน และความร่วมมือกับรักษ์ไทยในปีนี้จะได้นำร่องเอาหลักสูตรดังกล่าวมาขับเคลื่อนในพื้นที่โรงเรียนและชุมชน เพื่อให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นและเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้ร่วมกันทำงานกับคุณครูเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในโรงเรียนได้ดียิ่งขึ้น แน่นอนว่าสังคมปัจจุบันเทคโนโลยีสื่อสารต่างๆ ก็เพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้มีปัญหาเพิ่มมากขึ้นจึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันร่วมกันให้เยาวชนโดยเฉพาะในกลุ่มที่เสี่ยงก่อน
ขณะที่นางสาวสุนีย์ ตาฬวัฒน์ ผู้ประสานงานโครงการอาวุโส มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนำร่องนี้จะดำเนินงานใน 12 โรงเรียน และ 6 ชุมชน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน อยุธยา อุบลราชธานี ระยอง และปัตตานี ซึ่งโรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย 1) โรงเรียนสันกำแพง 2) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ ซึ่งโรงเรียนในจังหวัดลำพูน ประกอบด้วย 1) โรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม อ.ป่าซาง 2) โรงเรียนเวียงเจดีย์วิทยา อ.ลี้ ในระหว่างวันที่ 3-5 เมษายน 2566 นี้ทางมูลนิธิรักษ์ไทยได้จัดให้มีการปฐมนิเทศ และอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้กับ เยาวชน ตัวแทนสภานักเรียน สภาเด็กและเยาวชน ครู และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง จำนวน 60 คนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงโครงการฯ และส่งเสริมศักยภาพด้านการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในกระบวนการตัดสินใจของวัยรุ่นทั้งในระดับโรงเรียนและระดับชุมชน
ด้านนางนิภา ชมภูป่า ผู้ประสานงานโครงการสุขภาพ มูลนิธิรักษ์ไทย จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในจังหวัดเชียงใหม่ มีเยาวชนช่วงอายุ 10-19 ปี ประมาณ 4 แสนกว่าคน ประกอบไปด้วยเยาวชนทั่วไป เยาวชน ชาติพันธุ์ เยาวชนแรงงานข้ามชาติ และเยาวชนไม่มีสถานะ บุคคล เยาวชนดังกล่าวอยู่ในระบบการศึกษา บางกลุ่มอยู่นอกระบบการศึกษาและอยู่ในสถานประกอบการ และในชุมชน การส่งเสริมความเข็มแข็ง ให้เยาวชนมีความมั่นคงและมีจิดใจดี รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมปลอดภัยและเอื้อต่อการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ทั้งในครอบครัว ในสถานศึกษา ในสถานประกอบการ ล้วนมีความสำคัญยิ่งในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสนับสนุนให้เยาวชนรู้สึกมีพื้นที่เป็นมิตร และเป็นหุ้นส่วน โดยการสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นการร่วมในการตัดสินใจ ในทุกระดับ ความเป็นเยาวชน ความเป็นเพศ ความเป็นชาติพันธุ์ ส่งผลต่อการมีพื้นที่และการมีส่วนร่วมของเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรม ทางมูลนิธิรักษ์ไทยได้มีการดำเนินงานกับเยาวชนที่มีความเปราะบางมาเป็นเวลา 20 กว่าปี เพื่อสนับสนุนเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของเยาวชนเอง ทั้งเยาวชนที่เผชิญปัญหาและเยาวชนที่มีโอกาสเสี่ยงซึ่งประกอบไปด้วยเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี เยาวชนที่ถูกใช้ความรุนแรงทางเพศ เยาวชนตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เยาวชนใช้สารเสพติด เยาวชนไม่มีสถานะบุคคลและเยาวชนที่ถูกรังแก (Bully) จากการทำงานที่ผ่านมาเราพบว่าการสนับสนุนเยาวชนให้มีส่วนร่วม ลุกขึ้นมารับรู้ข้อมูล เข้าใจปัญหาและพัฒนาออกแบบการดำเนินงาน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาของเยาวชนเองส่งผลต่อตัวเยาวชนให้มีความสามารถในการเป็นผู้นำ มีทักษะในการจัดการตนเองและมีส่วนร่วมกับสังคม อย่างมีความหมาย และมีคุณภาพ
เช่นเดียวกับทางนางรชยา ฮั่นตระกูล หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเยาวชนในยุคปัจจุบันแม้จะอยู่ในสังคมที่พัฒนาขึ้นมาก แต่ปัญหากลับน่ากังวลและมีเยาวชนจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อความปลอดภัยเหล่านี้ ทั้งเรื่องเพศ การบุลลี่ ความปลอดภัยจากสื่อเทคโนโลยีต่างๆ ที่ตกเป็นเหยื่อได้ง่ายกว่าอดีต โชเชียลต่างๆ การเกราะป้องกันและร่วมมือกันจากทุกหน่วยจึงจำเป็นอย่างมาก ทั้งการเข้าถึงและการร่วมมือของกลุ่มเยาวชนเป้าหมาย ผู้ปกครองหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกส่วน โครงการนี้ถือว่าเป็นแนวทางที่ดีถ้ามีการขายผลให้ครอบคลุมก็จะช่วยลดหรือแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้มากเพราะทำให้เกิดความร่วมมือวงกว้าง มีทั้งภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อ.
เขียนเมื่อ 03 เมษายน 2566 16:11:38 น. (view: 10339)