News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
แม่ทัพภาคที่ 3 ประชุม ศอ.ปส.ชน.สรุปภารกิจครึ่งปีแรกพร้อมเดินหน้าดูแลความมั่นคงแนวชายแดนสกัดกั้นสิ่งผิดกฎหมาย ระบุครึ่งปียึดยาเสพติดได้จำนวนมาก ยาบ้ามากสุดกว่า 51ล้านเม็ดพุ่งสูงกว่าปีก่อนกว่า 50% พบใช้สารตั้งต้นใหม่และยาเสพติดรูปแบบใหม่'Happy water' ฮิตในก
เชียงใหม่ 26 เม.ย.- ที่โรงแรมวินทรี ชิตี้ รีสอร์ท เชียงใหม่ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พลโท สุริยะ เอี่ยมสุโร แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานเปิดประชุมคณะทำงานศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ (ศอ.ปส.ชน.) ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 1(รอบ 6 เดือนแรก ห้วง 1 ต.ค. 65 - 31 มี.ค. 66) โดยมี พล.ต.ต.พฤทธิพงษ์ ประยูรศิริ รอง รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 นายสานิตย์ อ่อนเปี่ยม ผู้อำนวยการส่วนกิจการโครงการพิเศษสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 5 ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมและสรุปผลปฏิบัติงาน
ทั้งนี้แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ในห้วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 65 - มี.ค. 66) ศอ.ปส.ชน.ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่รับผิดชอบ (จ.เชียงใหม่, เชียงราย, แม่ฮ่องสอนและพะเยา) โดยมีการจับกุมจำนวน 241 ครั้ง สามารถตรวจยึดยาบ้าได้จำนวน 51,562,885 เม็ด, ไอซ์ 1,296.67 กก., เฮโรอีน 6.73 กก., ฝิ่นดิบ 60.09 กก., เคตามีน 300 กก. และผู้ต้องหารวม 249 คน เมื่อเปรียบเทียบกับห้วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2565 พบว่า ผลการจับกุม/ตรวจยึด ยาบ้าและไอซ์ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 50 ถึงแม้ สาร Ephedrine/Pseudoephedrine และ P-2-P จะยังคงเป็นสารตั้งต้นหลักในการผลิตเมทแอมเฟตามีน (ไอซ์และยาบ้า) แต่เนื่องจากสารดังกล่าว เป็นสารเคมีควบคุมตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ค.ศ. 1988 ทำให้ยากต่อการจัดหาและขนส่ง ปัจจุบันพบว่า กลุ่มผู้ผลิตยาเสพติดใช้สารเคมีชนิดอื่น เช่น สารเบนซิลไซยาไนด์ (C8H7N), สารเบนซิลคลอไรด์ (C7H7Cl) นำมาเป็นสารตั้งต้นเพื่อใช้ในการผลิตยาเสพติดแทน โดยเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2566 เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้ตรวจยึดและอายัด สารเบนซิลไซยาไนด์ จำนวน 25,000 กก. ที่ด่านศุลกากรแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งจากการสอบสวนทราบว่า สารดังกล่าวถูกส่งมาจากประเทศอินเดีย โดยบริษัทสัญชาติจีนเป็นผู้สั่งซื้อ เพื่อนำผ่านประเทศไทยทางท่าเรือแหลมฉะบังไปยังประเทศเมียนมา แต่เนื่องจากสารเคมีบางชนิดอาจอยู่ในความควบคุมของหน่วยงานมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน ซึ่งอาจเป็นการยากในการควบคุม ศอ.ปส.ชน. ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจและกำหนดทิศทางในการแก้ไขปัญหา ทั้งยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจการนำเข้า/ส่งออก และการนำไปใช้ ของบริษัทและโรงงานอุตสาหกรรมที่มีสารเคมีควบคุมในความครอบครอง เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องปรามการลักลอบลำเลียงสารเคมีออกนอกประเทศไปใช้ในการผลิตยาเสพติด
นอกจากภารกิจในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดแล้ว ผอ.ศอ.ปส.ชน. ยังได้มีนโยบายในการบำบัดผู้ติด/ผู้เสพเสพยาเสพติด ซึ่งสอดคล้องกับสาระสำคัญของประมวลกฎหมายยาเสพติดที่กำหนดให้ผู้เสพคือผู้ป่วย มีขั้นตอนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคม โดยศูนย์คัดกรองระดับตำบล จะคัดกรองปัญหาการใช้ยาเสพติดพร้อมให้การช่วยเหลือและส่งต่อไปยังสถานพยาบาลตามความหนักเบาของปัญหาและไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้ว จะถูกส่งไปยังศูนย์ฟื้นฟูสภาพสังคมเพื่อส่งเสริมอาชีพ การศึกษา และสวัสดิการทางสังคม ทั้งนี้ ศอ.ปส.ชน. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการค้นหา คัดกรอง ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขสถานการณ์ยาเสพติดในปัจจุบันยังคงมีความรุนแรง เนื่องจากมีปริมาณสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์เข้าสู่แหล่งผลิตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเครือข่ายยาเสพติดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยยาบ้าและไอซ์ ยังคงเป็นยาเสพติดหลักที่แพร่ระบาด อีกทั้ง ยังควรเฝ้าระวังการใช้เฮโรอีนในกลุ่มผู้เสพในพื้นที่ตัวเมือง และสารเสพติดรูปแบบใหม่ กลุ่ม Club drugs เช่น Happy water ในกลุ่มนักเที่ยวสถานบันเทิง ทั้งนี้จากสถิติการจับกุมคาดว่า การลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้าสู่ประเทศไทย มีแนวโน้มการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้าทางด้านทิศตะวันตะวันออกเฉียงเหนือลดลง สำหรับพื้นที่ภาคเหนือตอนบนยังคงเป็นพื้นที่หลักในการลักลอบลำเลียงยาเสพติด นอกจากนี้ยังควรต้องเฝ้าระวังการลักลอบลำเลียงยาเสพติดด้านทิศตะวันตกด้วย.
เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2566 16:10:14 น. (view: 10337)