News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

สสจ.เชียงใหม่ห่วงใยประชาชน เตือน! การซื้อหรือเก็บเห็ดป่าช่วงหน้าฝนมาทาน ต้องระวัง เห็ดพิษ อาจทำให้เสียชีวิตได้

นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชียงใหม่ เตือนประชาชนช่วงนี้มีฝนตกลงมาหลายพื้นที่ทำให้เห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี การซื้อหรือเก็บเห็ดป่าในช่วงหน้าฝนมาปรุงอาหารต้องแยก

ให้ออกระหว่างเห็ดพิษกับเห็ดที่กินได้ เมื่อเห็ดอยู่ในระยะดอกตูม จะมีความคล้ายคลึงกันมาก อันตรายอาจ

ทำให้เสียชีวิตได้

จากสถิติล่าสุดข้อมูลงานระบาดวิทยา กลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าในปี 2565 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยจำนวน 27 ราย แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ด ส่วนสถิติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 25 พฤษภาคม 2566 พบผู้ป่วยจำนวน 1 ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษ

สำหรับเห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ 1.เห็ดระโงกพิษ หรือบางที่เรียกว่า

เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว ที่กินได้ แต่มีลักษณะต่างกัน คือ เห็ดระโงกพิษ รอบขอบหมวกไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน เมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน  เห็ดระโงกพิษ มีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นในแต่ละภาค ภาคเหนือเรียกเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง ภาคอีสานเรียกเห็ดระโงกหิน เห็ดระงากหรือเห็ดสะงาก เห็ดระโงกตีนตัน 

ซึ่งมีรูปร่างคล้ายคลึงกันมากกับเห็ดที่กินได้ โดยเฉพาะเห็ดดอกอ่อนที่มีลักษณะเป็นก้อนกลมรีคล้ายไข่ที่ดอกยังบานไม่เต็มที่ 2. เห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านเล็กที่กินได้ ขนาดดอกจะเล็กกว่า และไม่มีน้ำยางสีแดงส้ม 3. เห็ดเมือกไครเหลือง ที่ประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุม

และมีสีดอกเข้มกว่า 4. เห็ดหมวกจีน มีความคล้ายกับเห็ดโคนที่กินได้ จุดสังเกตคือ ดอกนิ่มและบาง ก้านนิ่ม

ด้านในกลวงตลอดก้าน

  ทั้งนี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนำไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้ายที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดมีพิษจะกลายเป็นสีดำ ซึ่งวิธีเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะเห็ดระโงกที่มีพิษทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกก็ไม่สามารถทำลายพิษนั้นได้ และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย 

นายแพทย์จตุชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหลังจากกินเห็ดป่าเข้าไป 

ไม่ควรล้วงคอหรือให้กินไข่ขาวดิบเพื่อกระตุ้นให้อาเจียน เพราะอาจทำให้เกิดแผลในคอ และการกินไข่ขาวดิบจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยท้องเสียเพิ่ม หรือติดเชื้อได้ให้รีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการรับประทานเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างหรือภาพถ่ายเห็ดพิษไปด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โทร 053-211048-50  ต่อ  110 , 101

เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2566 16:56:48 น. (view: 5806)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง