News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
จังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวช/ผู้ใช้สารเสพติด ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงในพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่”
วันที่ 2 มิถุนายน 2566 นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน
เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวช/ผู้ใช้สารเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงในพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่” ณ ห้องประชุมตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวรายงาน
นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่า จำนวนผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งพบว่าผู้ก่ออาชญากรรมในหลายคดีเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และหลายรายเป็นผู้ที่มีอาการทางจิตจากการใช้ยาเสพติด ซึ่งมีลักษณะการก่อเหตุที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเป็นวงกว้าง บางรายคลุ้มคลั่งทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกายบุคคลใกล้ชิด บุคคลในครอบครัว บุคคลรอบข้าง รวมถึงก่อเหตุสะเทือนขวัญรุนแรง ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง จากรายงานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มีบุคคลคลุ้มคลั่ง
ที่รับแจ้งเหตุและนำส่งโดย 1669 ในปี 2560 จำนวน 14,531 ครั้ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2565 เพิ่มเป็น 21,006 ครั้ง โดยกรมสุขภาพจิต มีการคาดการณ์ว่ามีกลุ่มเสี่ยงคลุ้มคลั่งที่ยังไม่ได้รับการดูแลรักษากว่า 125,994 ราย สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2565 มีบุคคลคลุ้มคลั่งที่รับแจ้งเหตุและนำส่งโดย 1669 จำนวน 320 ครั้ง
ทางคณะอนุกรรมการประสานงานเพื่อการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิต จังหวัดเชียงใหม่
โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน จึงมีมติให้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวช/ผู้ใช้สารเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการหน่วยงาน ภาคี ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช/ผู้ใช้สารเสพติด ให้ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ทั้งในช่วงก่อนเกิดเหตุ ช่วงเผชิญเหตุ และหลังเกิดเหตุ ไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อร่างกายและทรัพย์สิน โดยผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลและสาธารณสุขอำเภอ จาก 25 อำเภอ รวม 240 คน ได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจาก ตำรวจภูธรภาค 5 โรงพยาบาลสวนปรุง โรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลสันป่าตอง โรงพยาบาลจอมทอง โรงพยาบาลหางดง โรงพยาบาลแม่ออน โรงพยาบาลสันทราย และโรงพยาบาลพร้าว
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเหตุ ผู้ป่วยจิตเวช/ผู้ใช้สารเสพติด ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง
ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สามารถแจ้งสายด่วน 191 หรือ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 การให้การปรึกษาทางโทรศัพท์ 24 ชั่วโมง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
เขียนเมื่อ 02 มิถุนายน 2566 13:47:44 น. (view: 10341)