News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
จังหวัดเชียงใหม่ เตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในช่วงฤดูฝน ด้านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ไว้แล้วกว่า 200 ชิ้น ขณะที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ คาดปริมาณฝนรวมเดือนกรกฎาคม ต่ำกว่าค่าปกติ ร้อยละ 5
วันนี้ (4 ก.ค. 66) นายบัญชา แก้วงาม ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เปิดเผยในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์จังหวัดเชียงใหม่ ถึงการคาดหมายลักณะอากาศของภาคเหนือช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 ว่า ปริมาณฝนรวมจะต่ำกว่าค่าปกติ ร้อยละ 5 และอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส โดยประมาณครึ่งเดือนแรกยังคงมีฝนน้อย จากนั้นจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 160-200 มิลลิเมตร อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 24-26 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 32-34 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ การเกิด “ฝนทิ้งช่วง (Dry Spell)” จะพิจารณาจากปริมาณฝนที่ตกไม่ถึงวันละ 1 มิลลิเมตร ติดต่อกันเกิน 15 วันในช่วงฤดูฝน ซึ่งช่วงที่มีโอกาสเกิดฝนทิ้งช่วงสูงสุด คือ ห้วงปลายเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เนื่องจากร่องความกดอากาศต่ำได้เลื่อนขึ้นไปทางเหนือ พาดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีนเป็นเวลานานทำให้ฝนบริเวณประเทศไทยลดลงโดยทั่วไป
ด้าน นายอารุณ ปินตา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยไว้พร้อมแล้ว ทั้งการสำรวจพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำ แผนการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง ระยะยาว เครื่องจักรกลสาธารณภัย ทั้งเครื่องสูบน้ำ รถขนย้ายผู้ประสบภัย รถประกอบอาหาร เรือ และรถแบคโฮ รวมแล้วกว่า 200 ชิ้น และยังมีการทำความสะอาดทางระบายน้ำ ลอกท่อ ขุดลอกเปิดทางน้ำ และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้ความสำคัญและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ ในช่วงฤดูฝนมักจะมาพร้อมกับเหตุวาตภัย จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน รวมถึงเจ้าของสิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาต่าง ๆ หมั่นตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเหมือนครั้งที่ผ่านมา
//////////////////
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ / ข่าว-ภาพ
4 กรกฎาคม 2566
เขียนเมื่อ 04 กรกฎาคม 2566 15:26:12 น. (view: 10340)