News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนชมปรากฎการณ์ดาราศาสตร์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม 2566 ซูเปอร์บลูมูน ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี หากฟ้าใส ไร้ฝน ดูได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. เปิดเผยว่า คืนวันที่ 30 ถึงรุ่งเช้า 31 สิงหาคม 2566 ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี และเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน หรือเรียกว่า “ซูเปอร์บลูมูน” ซึ่ง “บลูมูน” (Blue Moon) ไม่ได้หมายถึงดวงจันทร์สีน้ำเงิน ในทางดาราศาสตร์แล้ว บลูมูน หมายถึงดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยบลูมูนครั้งนี้ นับเป็นบลูมูนในรอบ 3 ปี ครั้งล่าสุดที่เกิดบลูมูนคือวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ซึ่งในครั้งนั้น นอกจากจะตรงกับวันฮาโลวีนแล้ว ยังเป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) พอดีอีกด้วย
ทั้งนี้ ในคืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และความสว่างเพิ่มขึ้นประมาณ 15% เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงจันทร์ในครั้งนี้ คือช่วงเย็นวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:09 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า ของวันที่ 31 สิงหาคม 2566 หากฟ้าใส ไร้เมฆฝน สามารถดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ ยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างเคียงข้างดวงจันทร์อีกด้วย หรือ ถ้าอยากเห็นแบบเต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์ ก็มาชมได้ที่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา สงขลา และฉะเชิงเทรา
เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2566 14:22:09 น. (view: 10336)