News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

ททท. เชียงใหม่ แถลงแผนปฏิบัติการส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยว ประจำปี 2567 รุกตลาด STGs ระบุตลาดในประเทศกลับมา 100% ไฮซีซั่นคึกคักรายได้แตะแสนล้าน ทั้งภาคเหนือทะลุ 1.86 แสนล้านบาท คนทะลุ 40 ล้าน

เชียงใหม่ 5 ต.ค.- ที่กาดจริงใจ เชียงใหม่ นางสาวภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมด้วยนางสาวสุลัดดา  ศรุติลาวัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานเชียงใหม่ ร่วมแถลงแผนปฏิบัติการส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยว ประจำปี 2567 นำเสนอแผนการปฏิบัติงานและทิศทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาคเหนือและจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด Chiang Mai The Greatest Change สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

นางสาวภัทรองนงค์ ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ ททท. กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์การท่องเที่ยวภาคเหนือในปี 2566 คาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยไม่น้อยกว่า 34 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 17 และมีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.55 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 23 โดยในปี 2567 มีเป้าหมายจำนวนผู้เยี่ยวเยือนชาวไทยไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน-ครั้ง และรายได้จากการท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 1.86 แสนล้านบาท เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ททท. ภูมิภาคภาคเหนือ จึงได้กำหนดทิศทางในการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวภาคเหนือ ประจำปี 2567 ในการมุ่งเน้นส่งมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวภาคเหนือที่ผสมผสานระหว่างเสน่ห์วันวานเมืองเหนือ (North Nostalgia) และความร่วมสมัย (Contempory) ผ่าน Northern Thailand Soft Power ที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ ผ่าน 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1. Amazing Northern Lifestyle สร้างสรรค์ประสบการณ์ท่องเที่ยวผ่านการเสนอขายสินค้าตามแนวคิด Northern Thailand Soft Power ที่โดดเด่นของภาคเหนือ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น 2. Amazing Northern Faithival ส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเดือนมีนาคม – กันยายน ซึ่งมีอัตราการเข้าพักแรมต่ำ โดยนำเสนอสินค้าและบริการในด้านกิจกรรม เทศกาล ประเพณี (Event Marketing) ที่เกี่ยวกับความเชื่อและศรัทธาที่สามารถสร้าง Inspiration ในการดำเนินชีวิต และ 3. Amazing Northern Mueang Rong ส่งมอบประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวเมืองรองและพื้นที่รองโดยสะท้อนอัตลักษณ์ของวัฒนธรรม วิถีชีวิต อาหารถิ่น และกิจกรรมท่องเที่ยวผ่านการเสนอขายสินค้าตามแนวคิด “เสน่ห์วันวานเมืองเหนือ (North Nostagia)” รวมถึงเส้นทางขับรถท่องเที่ยวเชื่อมโยงภายในภูมิภาคภาคเหนือในฤดูต่างๆ โดยโฟกัสไปที่กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ Lady, Gen Y, High-End และ Active Senior นอกจากนี้ ยังมีนโยบายให้ทั้ง 11 สำนักงานภาคเหนือทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดภายใต้แนวคิด CSR in Process และ BCG ลงไปในทุกกิจกรรม เพื่อเป็นการสร้างความยั่งยืนและมั่นคงทางการท่องเที่ยว

นางสาวสุลัดดา ศรุติลาวัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานเชียงใหม่ ได้กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม - สิงหาคม 2566 จังหวัดเชียงใหม่มีรายได้ทางการท่องเที่ยวราว 52,437 ล้านบาท ตลอดทั้งปี 2566 

คาดว่า จังหวัดเชียงใหม่จะสามารถบรรลุเป้าหมายรายได้ทางการท่องเที่ยวที่ประมาณ 90,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของปี 2562 แรงผลักดันสำคัญมาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวของภาครัฐให้เกิดความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น (Ease of Travelling) และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้จังหวัดเชียงใหม่บรรลุเป้าหมายรายได้ทางการท่องเที่ยวได้ไม่ยากตอนนี้ตลาดในประเทศกลีบมา 100% แล้ว ทั้งนี้ในปี 2567 ได้วางเป้าหมายไว้ว่าจังหวัดเชียงใหม่จะสามารถทำรายได้ทางการท่องเที่ยวได้เท่ากับปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนการระบาดของโควิด -19 คิดเป็นรายได้ราว 1.10 แสนล้านบาท 

ในปี 2567 ททท. สำนักงานเชียงใหม่ จะทำการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวผ่าน Soft Power ตามแนวคิด 5F ดังนี้ F:Food อรรถรสของกิ๋นคนเมือง F:Festival เชียงใหม่เมืองแห่งเทศกาล F:Film อภิรมย์เชียงใหม่ตามรอยหนัง F:Fashion ยลเสน่ห์ภูษาเวียงพิงค์ F:Fight (Fit&Firm) เชียงใหม่รีทรีต โดยจะนำเสนอขายผ่านแผนปฏิบัติการส่งเสริมการท่องเที่ยวประจำปี 2567 ใน 4 โครงการได้แก่ โครงการ Amazing Chiang Mai Retreat ส่งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสินค้ามูลค่าสูงไปยังนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพและกลุ่ม Lady เพื่อให้การท่องเที่ยวช่วยยกระดับสุขภาพกายและจิตใจผ่านกิจกรรม อาทิ Zodiac Spa นวดตามธาตุ ผ่อนคลายตามราศี, Chiang Mai Green Kitchen, Chiang Mai Sport tourism โครงการ Amazing Chiang Mai Workation ส่งเสริมให้กลุ่ม Workation และกลุ่มวัยทำงานเกิดการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดาผ่านการนำเสนอประสบการณ์ท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน ออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อชาร์ตพลังให้กับชีวิตการทำงาน โดยยังสามารถทำงานควบคู่กันไปด้วยได้ นำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว อาทิ ท่องเที่ยวสายมู “เที่ยวเชียงใหม่ มูยังไงให้ปัง”, ท่องเที่ยวสายชิลล์ Café Hopping, ท่องเที่ยวสาย Green/Low Carbon  

โครงการ Vijitr Viang Ping กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย (Expat) ให้ออกเดินทางท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่มากขึ้น ผ่านการส่งมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวสัมผัสเสน่ห์วันวานเมืองเชียงใหม่ (Chiang Mai Nostalgia) ผสมผสานความร่วมสมัยแบบ Meaningful Travel นำเสนอขายสินค้าและบริการ Northern Thailand Soft Power (5F) อาทิ กิจกรรมเสน่ห์วันวานอาหารล้านนา,ภูษาเวียงพิงค์:ตอนความลับแห่งภูษา,Responsible Tourism/Voluntourism/

Low Carbon Tourism 

โครงการ Amazing Chiang Mai Road Trip เสนอขายเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับกลุ่ม Gen Y ที่ชื่นชอบการขับรถท่องเที่ยวผสานกับการเสนอขายแหล่งท่องเที่ยวหรือกิจกรรมท่องเที่ยว

ที่เป็น Sub Culture อาทิ กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ Amazing Dark Sky in Chiang Mai, กิจกรรม Glamping & Music, กิจกรรม Specialty Tea and Coffee  

พร้อมกันนี้ นางสาวนาฏธิดา หาระวงศ์ พนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยว กองส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยวได้ให้ข้อมูลแนวทางการขับเคลื่อนระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวให้รองรับนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างยั่งยืนตามหลัก STGs : Sustainable Tourism Goals ทั้งทางด้านธรรมาภิบาล วัฒนธรรม สังคม-เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ตามโครงการยกระดับผู้ประกอบการสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism Acceleration Rating : STAR) โดยได้ให้คำแนะนำขั้นตอนการสมัคร ดาวแห่งความยั่งยืน STAR และการรับใบประกาศนียบัตรออนไลน์ (E-Certificate) โดยผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่สนใจสามารถสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.tatstar.org หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Line OA: @TATStar สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ เปิดให้บริการวันจันทร์ - ศุกร์ 

เวลา 08.30 – 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ) โทรศัพท์ 0 5324 8604-5 และสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวด้านการท่องเที่ยวของ ททท.สำนักงานเชียงใหม่ได้ทาง TAT Chiang Mai @TAT Chiang Mai

เขียนเมื่อ 05 ตุลาคม 2566 16:49:37 น. (view: 10338)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง