News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

เปิด 7 ข้อเสนอจากนักข่าว ถึงการแก้ปัญหาฝุ่นเหนือ ล้อมวงหารือระดมสมอง “กลุ่มยกระดับการสื่อสารวิกฤตฝุ่น” แนะภาครัฐ จริงใจในการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาไม่ปิดบัง ตั้งเป้าหมายเปิดเวทีใหญ่ระดมสมองของผู้เกี่ยวข้องด้านการสื่อสารอีกครั้งในเดือนมกราคม 2567 เพื่

 



วันที่ 6 ธันวาคม 2566 ที่ ห้องประชุม ศูนย์ไทยพีบีเอส ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่  สภาลมหายใจภาคเหนือร่วมกับภาคีเครือข่ายสื่อมวลชนในพื้นที่ภาคเหนือจัดประชุมระดมสมองคนสื่อ ยกระดับการสื่อสารวิกฤติฝุ่นครั้งที่ 1/2566 โดยมีเป้าหมายเพื่อระดมข้อเสนอแนวทางการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสื่อมวลในการนำเสนอต่อสาธารณะและส่งต่อคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน นำเสนอปัญหา เพื่อยกระดับการสื่อสารสถานการณ์ฝุ่น เสนอเปิดข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา 

นายบัณรส บัวคลี่ ผู้แทนสภาลมหายใจภาคเหนือกล่าวว่า เนื่องจากปัญหาสถานการณ์ฝุ่นควัน ที่มีมาต่อเนื่องหลายปีและมีความซับซ้อนทั้งในเรื่องของการจัดการ การแก้ไขปัญหารวมถึง การสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูล โดยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาเห็นพัฒนาการความพยายามแก้ไขปัญหาจากภาครัฐมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีอุปสรรคในเรื่องของการสื่อสารข้อมูลไปยังประชาชน ในทุกระดับซึ่งเขาเหล่านั้นคือผู้ประเชิญกับสถานการณ์โดยตรง  จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มการของกลุ่มยกระดับสื่อสารวิกฤตฝุ่น รวมตัวจากสื่อผู้ปฏิบัติภาคสนาม สื่อมวลชนนพื้นที่ภาคเหนือและสถานีฝุ่นสภาลมหายใจภาคเหนือจัดระดมออกแบบการสื่อสารร่วมกันเพื่อยกระดับการสื่อสารในการแก้วิกฤติฝุ่นควันปี 2567 เพื่อจะผลักดันข้อเสนอให้เกิดการยกระดับการสื่อสารปัญหามลพิษฝุ่นควัน ให้เกิดประสิทธิภาพ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย มีความชัดเจนและครอบคลุมข้อเท็จจริง และตอบสนองการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์มลพิษฝุ่นควัน ที่เกิดต่อเนื่องมายาวนาน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 1 เพื่อระดมสมองจัดกลุ่มปัญหาและกลุ่มข้อเสนอเบื้องต้น และตั้งเป้าหมายจะเปิดเวทีใหญ่ระดมสมองของผู้เกี่ยวข้องด้านการสื่อสารอีกครั้งในเดือนมกราคม 2567 เพื่อยื่นข้อเสนอให้กับรัฐบาลต่อไป  

ทั้งนี้ที่ประชุมได้สรุปประเด็นปัญหาที่จะเสนอผลักดัน 7 กลุ่มปัญหา ประกอบด้วย 

1. ขอให้มีฐานข้อมูลกลาง หรือศูนย์สื่อสารข้อมูลและเชื่อมประสาน และยกระดับการเปิดข้อมูล ข้อเท็จจริง คลิปข่าว ภาพถ่ายและข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็น ให้สื่อสารมวลชนได้ใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดย ขอให้แต่ละจังหวัดมีศูนย์กลางที่รวบรวมข้อมูลดังกล่าว ทั้ง ข้อมูลพื้นฐาน แผน ทรัพยากร สถิติที่ผ่านมา แผนปฏิบัติในปีนี้ ฯลฯ ตลอดถึง ข้อมูลรายวัน ภาพเหตุการณ์ คลิปเหตุการณ์ รายละเอียดสถานการณ์ ให้สื่อมวลชนนำไปใช้ หรือแหล่งอ้างอิงหรือบุคคลอ้างอิงที่สามารถติดต่อได้

2. ขอให้มีการแถลงข่าว/ รายงานสถานการณ์สำคัญ เช่น ไฟไหม้ใหญ่ ไฟลุกลาม เหตุร้ายแรง ฯลฯ โดยโฆษกสถานการณ์ และขอให้มีการรายงานสถานการณ์ประจำวัน หากเป็นไปได้ควรกำหนดเวลาก่อนเที่ยงให้สอดคล้องกับการส่งข่าวของระบบสื่อส่วนกลาง ยกเว้นกรณีที่เหตุการณ์วิกฤติ อาจจะแถลงข่าวหรือให้ข้อมูลมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน และ ขอให้แต่ละจังหวัดประกาศข้อมูลแผนปฏิบัติการต่างๆ รวมทั้งแผนชิงเผาบริหารเชื้อเพลิงล่วงหน้า 



 3. ปัญหาเรื่องทัศนคติ และวิธีคิดของผู้ปฏิบัติ ที่ไม่อยากให้นำเสนอข้อเท็จจริงที่เป็นผลกระทบ ขนาดพื้นที่ไฟไหม้ ขนาดความเข้มข้นของค่ามลพิษ  ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่เปิดข้อมูล เมื่อสื่อพยายามรายงานข่าวสารจากแหล่งอื่น หากไม่ตรงหรือคลาดเคลื่อนก็จะเกดความขัดแย้งไม่พอใจขึ้น  ผู้ปฏิบัติจำนวนหนึ่งพึงพอใจที่สื่อไม่รายงานเหตุการณ์   กรณีสื่อท้องถิ่นในจังหวัด มักจะได้รับผลกระทบหากรายงานข่าวที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด ไม่อยากให้นำเสนอ มีข้อเสนอจากสื่อภาคสนามว่า เราไม่ใช่ศัตรู ที่จ้องจะรายงานด้านลบที่เกิดผลกระทบต่อหน่วยงานท่าน เรื่องนี้เป็นปัญหาทัศนคติ ขอให้ปรับร่วมกันว่า ทุกฝ่ายควรเปิดความจริง ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ให้ประชาชนรู้ ให้ตรงที่สุด โดยมีข้อเสนอในการปรับเปลี่ยนเป้าหมายของการนำเสนอ จากการรายงานประชาชนปกติ เป็น “การรายงานความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชน” เพื่อให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตัวในการป้องกันตัวเองได้ทันทวงที

4. ขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องทุกจังหวัด เร่งนำเสนอข้อมูล แนวทาง วิธีการ คำสั่ง มาตรการของจังหวัดตนให้ประชาชนรับรู้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง และครอบคลุมก่อนเหตุการณ์จริง คือ ควรต้องเร่งดำเนินการภายในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่จะไม่รู้รายละเอียดวิธีการคำสั่งที่จังหวัดประกาศออกมา ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ประชาชนไม่ทราบคำสั่งห้ามเผา ประชาชนไม่รู้ว่ามีช่องทางบริหารเชื้อเพลิง เป็นต้น 

5. สื่อและหน่วยสนับสนุน ควรยกระดับการสื่อสารในเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้รับผลกระทบ  เช่น เปิดพื้นที่รายงานข่าวต่อเนื่อง ให้เกิดความรับรู้ให้น้ำหนักความสำคัญของพื้นที่ผลกระทบ (เช่น แม่สาย หากไม่เสนอข่าวสารย้ำๆ ต่อเนื่องอาจจะถูกละเลยทั้งที่เป็นพื้นที่กระทบรุนแรง)  หรือ การออกแบบรายงานพื้นที่ปฏิบัติการพิเศษ ไฟแปลงใหญ่ ไฟที่มีผลกระทบสูง เป็นต้น 

6. องค์กรสื่อส่วนกลางที่รับข่าวจากท้องถิ่น ควรเปิดพื้นที่ รับข่าวเล็กข่าวน้อยที่รายงานเหตุการณ์/ผลกระทบ จากพื้นที่  (สตริงเกอร์ส่งข่าวไม่ได้ลง ก็ไม่ออกไปทำข่าว พื้นที่ผลกระทบเล็กๆ น้อยๆ ถูกมองข้าม) มีข้อเสนอให้ องค์กรใหญ่ เช่น กรมประชาสัมพันธ์ ไทยพีบีเอส หรือ องค์กรทุน สสส. พิจารณา สร้างถังข้อมูลข่าวสารกลาง ให้สื่อต่างๆ นำไปใช้  ข้อมูลกลางดังกล่าว ให้รวมถึงข่าวเล็กข่าวน้อยข่าวสารที่อาจถูกมองข้ามด้วย 

7. ขอให้มีการอบรม ยกระดับ ความรู้ เทคนิค การเข้าถึงเครื่องมือ ดูจุดความร้อน ค่าอากาศ ทิศทางลม และทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการยกระดับรายงานข่าว ให้กับผู้สื่อข่าวภาคสนาม 



  อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนในพื้นที่ภาคเหนือมองว่าปัญหานี้ ไม่ได้มีแค่ในช่วงสถานการณ์สั้นๆ ซึ่งพัฒนาการในการแก้ไขปัญหา มีการทำงานของภาคปฏิบัติงานต่อเนื่องตลอดทั้งปี จึงมองว่าการสื่อสารแบบต่อเนื่องจะนำมาซึ่งความเข้าใจของประชาชนผู้รับสารและการออกแบบการสื่อสารแบบต่อเนื่องจึงมีความสำคัญเพื่อที่จะทำให้ปัญหานี้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

  ทั้งนี้ชุดข้อเสนอเพื่อยกรับสื่อสารฯ ทั้งหมด รวบรวมเป็นร่างข้อเสนอคณะทำงาน นำไปเสนอต่อที่ประชุมสื่อภาคสนามระดับภาค ผู้ปฏิบัติงานสื่อด้านสิ่งแวดล้อม และ องค์กรเกี่ยวข้องระดมสมองเติมเต็ม ให้เกิดเป็นข้อเสนอเพื่อยกระดับการสื่อสารวิกฤตการณ์มลพิษฝุ่นควันที่สมบูรณ์ เสนอต่อรัฐบาลต่อไปภายในเดือนมกราคม 2567

เขียนเมื่อ 07 ธันวาคม 2566 16:06:16 น. (view: 247)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง