News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับการขับเคลื่อนงานวิจัยขั้นแนวหน้าเพื่ออนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดี เปิดเผยว่า ตามที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีแนวทางในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย ตามแผนการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระยะที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนําที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายวิสัยทัศน์คือสามารถสร้างผลประเมิน Socio Economic Impact และการได้รับการจัดอันดับ Time Higher Education University Impact Ranking อยู่ใน 50 อันดับแรกของโลกในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ภายในปี 2570 ภายใต้วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์การสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการวิจัยและนวัตกรรม (SO5: Research and Innovation Platform) ที่กำหนดกลยุทธ์เรือธงคือพัฒนากลไก ผลักดันการวิจัยชั้นแนวหน้า และเทคโนโลยีเชิงลึก การส่งเสริมการนําผลงานสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่มีผลกระทบสูง ไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการบูรณาการองค์ความรู้ ในการจัดการศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ผ่านการสร้างรูปแบบการทํางานที่เหมาะสม

ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนงานวิจัยผ่าน flagship หลักทั้งหมด 7 flagship นั่นคือ Flagship 1: Frontier Research, Flagship 2: Deep Tech and Appropriate Tech, Flagship 3: High Impact Research, Flagship 4: Brain Power and Manpower, Flagship 5: Global Partnership, Flagship 6: Open Innovation, Flagship 7: Research and IP Utilization เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ 

โดยงานวิจัยขั้นแนวหน้า หรือ Frontier Research ถือเป็นงานวิจัยสำคัญระดับต้นต่อประเทศ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยที่เพิ่งค้นพบใหม่ เช่น การค้นพบเห็ดชนิดใหม่ของโลก ซึ่งเมื่อปี 2560 นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลชนิดแรกของประเทศไทย และเป็นที่แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาพัฒนาการทำฟาร์มเพาะเห็ดทรัฟเฟิล เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการเกษตรกรรมไทยให้สามารถเพาะเลี้ยงเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศได้เช่นเดียวกับเห็ดทรัฟเฟิลที่เพาะเลี้ยงได้ในต่างประเทศ และในปี 2566 นักวิจัยกลุ่มเดิมสามารถค้นพบเห็ดหล่มหลังขาว และ เห็ดหล่มหลังเขียว ซึ่งเป็นเห็ดประจำถิ่นที่เป็นที่รู้จักของชาวบ้านในละแวกที่ค้นพบ มีการเก็บมาทำเป็นอาหารอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีการระบุชนิดทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง หากมีการเก็บข้อมูลและให้ความรู้แก่คนในชุมชนถึงการดูแลพื้นที่ป่า อาจเป็นการสร้างรายได้จากเห็ดป่าสองชนิดนี้ที่มีราคากิโลกรัมละ 150 – 200 บาท ในฤดูฝน ของคนในชุมชนรอบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อไป

อีกหนึ่งโครงการวิจัยสำคัญที่เป็นงานวิจัยขั้นแนวหน้าไปสู่การต่อยอดและถือได้ว่าจะเป็นงานวิจัยเพื่ออนาคต นั่นคือโครงการวิจัยขั้วโลก (อาร์กติกและแอนตาร์กติก) ตามพระราชดำริฯ โครงการวิจัยขั้วโลกของไทยเริ่มต้นจากการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกลถึงความสำคัญของการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพื้นที่แถบขั้วโลก ทรงมีพระราชดำริก่อตั้งมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศแนวหน้าของโลกเช่นจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นต้น ซึ่งมีเรือตัดน้ำแข็งและสถานีวิจัยที่ทวีปแอนตาร์กติกอยู่แล้ว นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัย/มหาวิทยาลัยของไทยกับหน่วยงานของประเทศแนวหน้าดังกล่าว ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิ ที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับเลือกให้เป็นมหาวิทยาลัยหลักในการดำเนินโครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ตามพระราชดำริฯ การทำงานเป็นลักษณะบูรณาการหน่วยงานในประเทศ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์  หน่วยงานในต่างประเทศ ได้แก่ สถานีตรวจวัดนิวทริโนนิวทริโนไอซ์คิวบ์ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันเป็นผู้บริหาร และ โครงการสำรวจตัดข้ามละติจูดเป็นการตรวจวัดรังสีคอสมิกจากท้องฟ้า ได้ร่วมมือกับกลุ่มวิจัยของสาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ มหาวิทยาลัยชอนนัม (Chonnam National University), สถาบันดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศเกาหลี (KASI : Korea Astronomy and Space Science Institute) และ สถาบันวิจัยขั้วโลกเกาหลี (KOPRI : Korea Polar Research Institute) เพื่ออาศัยการเดินทางของเรือตัดน้ำแข็งของเกาหลีบรรทุกอุปกรณ์ตรวจวัดชื่อ “ช้างแวน” บรรทุกไปกับเรือตัดน้ำแข็ง “เอราออน” (RV Araon) เดินทางเก็บข้อมูลวิจัย ณ ทวีปแอนตาร์กติก เพื่อศึกษาอัตราการเปลี่ยนแปลงของรังสีคอสมิกในระดับละติจูดต่างๆ ตามเส้นทางจากประเทศนิวซีแลนด์ เขตวิจัยทางทะเลอามันด์เซน (Amundsen Sea Research Area) สถานีวิจัยจางโบโก (Jang Bogo Station) และสิ้นสุดการเดินทาง ณ เมืองกวางยาง สาธารณรัฐเกาหลี  โครงการทั้งหลายดังกล่าวข้างต้นเป็นการพัฒนาและเตรียมความพร้อมกำลังคนของประเทศในการก้าวเข้าสู่วิทยาศาสตร์และและเทคโนโลยีแนวหน้า (frontier science and technology) ยกระดับประเทศซึ่งจะนำประเทศไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้ในอนาคต

 นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยขั้นแนวหน้าอื่นที่นักวิจัยสามารถพัฒนาขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา อาทิ งานวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการ และการปรับปรุงโครงสร้างโครงข่ายประสาทเทียมแบบคอนโวลูชัน 3 มิติ แบบขนาน พร้อมต่อยอดสู่เครื่องมือช่วยวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีภาวะบาดเจ็บทางสมอง โดยเฉพาะผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งเป็นงานวิจัยร่วมกันระหว่างคณะวิทยาศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ โครงการวิจัย พัฒนา เพื่อผลิตสารสกัดกัญชาระดับ Medical Grade เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นงานวิจัยสำคัญที่จะพัฒนาไปสู่การพัฒนายาสำหรับโรคร้ายแรงและโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่ยังต้องการพัฒนายาเพื่อการรักษา หรือ โครงการวิจัยในการสกัดสาระสำคัญจากผัก “ฮ้าน” ผักพื้นบ้านที่มีสารออกฤทธิ์ต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว เพื่อพัฒนาไปสู่ยารักษาโรคในอนาคตต่อไป

เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2566 09:47:06 น. (view: 7273)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง