News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

มช. พัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดี เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวิสัยทัศน์การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม และมุ่งมั่นสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม (Innovation University) ผ่านกลไกการผลักดันการวิจัยชั้นแนวหน้า เทคโนโลยีเชิงลึก การส่งเสริมการนําผลงานสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่มีผลกระทบสูงไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการบูรณาการองค์ความรู้เพื่อการจัดการศึกษา วิจัยและนวัตกรรมผ่านรูปแบบการทํางานที่เหมาะสม และก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมูลค่า 60,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 4 ปี ผ่านกลไกสำคัญดังนี้

“มช. พัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศ” 

นวัตกรรมถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับเศรษฐกิจให้กับประเทศ การยกระดับงานวิจัยสู่นวัตกรรมจำเป็นต้องมีกลไกการสนับสนุนที่เหมาะสม ทั้งการยกระดับความพร้อมของเทคโนโลยีและทดสอบความเป็นไปได้ในภาคการตลาดเพื่อให้ได้นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม 

ในปี 2566 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินงานร่วมกับนักวิจัยจำนวนกว่า 1,000 คน โดยเฟ้นหางานวิจัยที่มีศักยภาพจาก 150 ผลงาน เพื่อการสร้างนวัตกรรมที่โดดเด่นและเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต จำนวนกว่า 40 ผลงาน โดยตัวอย่างเทคโนโลยีที่สำคัญ อาทิ MOF- High-value Metal-organic Framework ซึ่งสังเคราะห์จากขยะพลาสติกและอลูมิเนียมสำหรับการจับและการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือ High Efficiency Anode Materials ซึ่งใช้สำหรับการพัฒนาลิเทียมไออนแบทเตอรี่ในรถไฟฟ้า EV เป็นต้น ในปี 2567 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีแนวทางดำเนินงานผ่าน 3 กลไกสำคัญ คือ การแปลงงานวิจัยสู่เทคโนโลยี (RT2) คือการยกระดับงานวิจัยและการศึกษาแนวทางการนำงานวิจัยออกสู่ตลาด นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการแข่งขัน ตอบโจทย์ความต้องการและเทรนด์ของเทคโนโลยีในระดับโลก เช่น พลังงานสะอาด พลังทดแทน หรืออุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ผ่านโครงการต่อยอดเทคโนโลยีสู่การเป็นนวัตกรรมที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Identified Tech to CMU Innovation) และโครงการบ่มเพาะเทคโนโลยีเชิงลึก (Pre-Tech Incubate) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในระดับโลก โดยกำหนดเป้าหมาย 50 ผลงานวิจัยสู่เทคโนโลยีเชิงลึกและมีศักยภาพแห่งการเปลี่ยนโลก

“มช. สร้างเครือข่ายนวัตกรรมเชื่อมโยงสู่สากล” 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีแนวทางเพื่อร่วมดำเนินงานอย่างเข้มแข็งกับพันธมิตรในต่างประเทศผ่านการแลกเปลี่ยนแนวคิด องค์ความรู้ เสริมสร้างศักยภาพให้กับบุคลากรทั้งอาจารย์และนักศึกษา รวมถึงสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนางานวิจัยและการดำเนินงานในรูปแบบนวัตกรรมแบบเปิด เพื่อการสร้าง Global Visibility ให้กับมหาวิทยาลัยให้อนาคต ในปี 2566 มหาวิทยาลัยได้สร้างแพลตฟอร์มสำหรับสร้างคู่ความร่วมมือด้านวิชาการ การวิจัย และนวัตกรรมระดับโลกทั้งกับภาครัฐและเอกชน ผ่านบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานในต่างประเทศ ที่มีมากกว่า 300 ฉบับ ในโครงการ One Faculty One MoU หรือ OFOM และการสร้างคู่ความร่วมมือใหม่กับมหาวิทยาลัย Top 50 ของโลก ผ่านโครงการ Personal to Organization โดยผลจากการดำเนินงานเกิดเป็นคู่ความร่วมมือใหม่กับ 10 หน่วยงาน การดำเนินกิจกรรมร่วมกันผ่านโครงการความร่วมมือและร่วมลงทุนกว่า 20 โครงการ สามารถกระตุ้นความร่วมมือกับพันธมิตรในต่างประเทศกว่า 50 ส่วนงาน คาดการณ์ในปี 2567 จะดำเนินการกระตุ้นความร่วมมือผ่านโครงการเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 รวมถึงมีการสร้างแพลทฟอร์มใหม่ในการทำงานในรูปแบบนวัตกรรมแบบเปิดกับหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดคู่เครือข่ายพันธมิตรและกิจกรรมความร่วมมือกับส่วนงานชั้นนำระดับโลกกว่า 50 เครือข่าย

“มช.ส่งเสริมนวัตกรรมสู่การใช้ เพื่อเศรษฐกิจและสังคม”

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีงานวิจัยและเทคโนโลยีที่หลากหลาย สามารถส่งต่อเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา องค์ความรู้ ที่มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญและถ่ายทอดเทคโนโลยีเหล่านั้นสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ชุมชนหรือธุรกิจสามารถนำองค์ความรู้นั้นไปใช้ในการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ต่อยอดสู่การแก้ปัญหาของชุมชนและสังคมได้ ในปี 2566 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับความคุ้มครองใหม่กว่า 40 ผลงาน และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีเหล่านั้นสู่ภาคชุมชนและสังคมรวม 20 ผลงาน อาทิ โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากภูมิปัญญาชุมชนตำบลเวียงยองอ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน ภายใต้การรังสรรค์ร่วมของภาคีเครือข่าย และโครงการนวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนชุมชนวัดหมื่นสาร ย่านวัวลาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น ในส่วนของปี 2567 ตั้งเป้าคัดเลือกผลงานวิจัยที่มีศักยภาพของมหาวิทยาลัยกว่า 100 ผลงาน เพื่อสร้างประโยชน์และก่อให้เกิดการใช้งานจริงจำนวน 30 ผลงาน และส่งเสริมการดำเนินงานของบริษัท อ่างแก้ว โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อขยายผลการนำเทคโนโลยีสู่การจดจัดตั้งบริษัทจำนวน 12 บริษัท และเชื่อมโยงโอกาสกับนักลงทุนเพื่อให้กับธุรกิจจากรั้วมหาวิทยาลัยมีการเติบโตอย่างยั่งยืน 

“มช. แหล่งปั้นสตาร์ทอัพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”

 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัวโปรแกรม builds (CMU Startup & Entrepreneurial Platform) เพื่อขับเคลื่อนการสร้างสตาร์ทอัพและความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมุ่งหวังการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพและความเป็นผู้ประกอบการของนักศึกษาอย่างครบวงจร ผ่านกิจกรรมการให้ความรู้ร่วมกับ Live SET E-learning การทดลองประกอบธุรกิจ และการให้ทุนผ่านกลไกกองทุน 60 ปี CMU Student startup เพื่อให้นักศึกษาได้นำงานวิจัยหรือเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยมาสร้างเป็นธุรกิจผ่านการ Spin-off และจดจัดตั้งเป็นบริษัทซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาทุกคนสามารถตั้งธุรกิจได้ในระหว่างเรียน โดยในปี 2566 มีนักศึกษาเข้าสู่ระบบของ Builds จำนวนกว่า 1,300 คน เข้าร่วมเป็นสมาชิกกว่า 440 คน เข้าร่วมกิจกรรมการให้ความรู้ 100 คนและเกิดเป็นธุรกิจจำนวน 10 บริษัท ในปี 2567 คาดว่าจะสามารถสร้างนักศึกษาที่สนใจการเป็นสตาร์ทอัพและความเป็นผู้ประกอบการได้มากกว่า 1,500 คน เกิดทีมนักศึกษาที่ร่วมสร้างสรรค์ไอเดียธุรกิจไม่น้อยกว่า 100 แนวคิด นำไปสู่การตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพไม่น้อยกว่า 20 บริษัท 



เป้าหมายในภาพรวมของการพัฒนานวัตกรรมโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2567 ตั้งเป้าหมายทำงานร่วมกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยกว่า 1,500 คน เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงลึก 15 ผลงาน สร้างนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจและสังคม 35 ผลงาน เกิด                   แพลทฟอร์มการทำงานร่วมกันในรูปแบบนวัตกรรมแบบเปิดและรวมรวมข้อมูลนักวิจัยและข้อมูลงานวิจัยเพื่อดำเนินงานร่วมกันไม่น้อยกว่า 1,000 ข้อมูล ในส่วนการดำเนินงานกับต่างประเทศมีเป้าหมายร่วมดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรไม่น้อยกว่า 50 เครือข่าย โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางสังคมและเศรษฐกิจกว่า 248 ล้านบาท การดำเนินงานทั้งหมดนี้เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมและเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยต่อไป

เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2566 09:51:07 น. (view: 7273)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง