News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
มช. ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่แม่ข่าและลำน้ำสาขาอย่างยั่งยืน
พื้นที่แม่ข่าและลำสาขาในพื้นที่เขตเมืองเชียงใหม่ ถือได้ว่าเป็นพื้นที่หนึ่งของเมืองเชียงใหม่ที่ยังมีปัญหารื้อรังไม่สามารถแก้ไขได้มาร่วมครึ่งศตวรรษ และที่ผ่านมามีความพยายามมานับครั้งไม่ถ้วนจากหน่วยภาครัฐ ท้องถิ่น จังหวัด ภาควิชาการ เอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ที่ร่วมกันผลักดันและลงมือแก้ไขปัญหา แต่ภาพรวมของการขับเคลื่อนก็ยังเป็นไปอย่างล่าช้า ขาดเอกภาพในการทำงาน และไม่สามารถขจัดข้อจำกัดในเรื่องความซับซ้อนของปัญหาและการจัดการในพื้นที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ นอกจากนี้การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่แม่ข่าในช่วงที่ผ่านมา เมื่อ ปี พ.ศ.2530 มุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนเรื่องที่อยู่อาศัย และการจัดการน้ำเสียเป็นหลัก หลังจากนั้นก็มีการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคม นักออกแบบ และนักพัฒนาเมือง ร่วมกับหน่วยงานอีกหลายครั้งตามมาที่พยายามขับเคลื่อนการพัฒนาคลองแม่ข่าในมิติอื่นๆ ที่นอกจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยในรูปแบบของการทำ Small Upgrading ในส่วนของสภาพแวดล้อม การสร้างสิ่งก่อสร้างสาธารณะ เช่น สะพาน การปรับปรุงตลิ่ง การติดตั้งไฟฟ้าและกล่องวงจรปิด รวมไปถึงการก่อตั้งเครือข่ายชุมชนดูแลคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา และมีการร่วมงานกับสถาปนิกกลุ่มใจบ้าน และภาคประชาสังคมอื่นๆ ร่วมมือกับเทศบาลนครเชียงใหม่ ในการเก็บข้อมูล และพยายามพัฒนาข้อเสนอจินตภาพการพัฒนาพื้นที่ ภายใต้ชื่อกิจกรรม Imagine Mae Kha และมีการดำเนินการรวมกันขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาพื้นที่แม่ข่าในมิติอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
การดำเนินโครงการวิจัย “การขับเคลื่อนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่แม่ข่าและลำน้ำสาขาอย่างยั่งยืน” ภายใต้ชุดโครงการ “การพัฒนาเมืองเชียงใหม่ในแนวทางเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ”ครั้งนี้จึงมุ่งเป้าไปที่การสร้างปฏิบัติการและกิจกรรมที่ช่วยหนุนเสริมโครงการนำร่องด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมให้มีมิติของการมีส่วนร่วม การใช้ข้อมูลเมืองเพื่อการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ และการขยายโอกาสของความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่และคนเมืองเชียงใหม่อย่างสูงสุด คู่ขนานไปกับการพัฒนาพื้นที่นำร่องงานพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองตามแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการ “Mae Kha City Lab” จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างการมีส่วนร่วม ก่อรูปโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลเมือง (Data Infrastructure) โดยจัดทำ Data Warehouse ที่เกี่ยวข้องกับคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา การจัดการนิเวศ ข้อมูลตั้งต้นเพื่อส่งเสริมงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนริมคลอง และการออกแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เหมาะสม ร่วมไปกับการสร้างการเรียนรู้ และพื้นที่เรียนรู้ (Learning space/Learning Programs) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจ และการใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาพื้นที่แม่ข่าและลำน้ำสาขา และการพัฒนาพื้นที่รูปธรรมต้นแบบการบริหารจัดการเมือง และการมีส่วนร่วมจากการใช้ข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้โครงการได้ออกแบบกิจกรรมเพื่อยกระดับให้ประเด็นคลองแม่ข่าเป็นวาระของเมือง โดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ เวทีสาธารณะ และการสื่อสารสาธารณะ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนและชุมชนที่อยู่อาศัยร่วมกับคลอง ให้เข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี, การแก้ปัญหาด้านความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและวางแผนในการจัดปรับ ขยับ และโยกย้ายชุมชน ไปอยู่ในระบบอาศัยที่เหมาะสมอย่างมีศักดิ์ศรีและถูกต้องตามกฎหมาย, การวางแผนการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียในระดับชุมชน-ย่าน, การฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่โบราณสถานกำแพงเมืองคูเมืองชั้นนอกริมคลองแม่ข่า รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และพื้นที่ต่อเนื่อง ให้เกิดโอกาสและมองเห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาร่วมกันของคนในเมือง ซึ่งจะส่งผลดีต่องานพัฒนาคลองแม่ข่า และการพัฒนาเมืองในภาพรวมต่อไปในอนาคต
เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2566 10:47:15 น. (view: 10339)