News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

แถลงการณ์ร่วมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ : กรณีนายกรัฐมนตรีเดินทางตรวจติดตามงานแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษอากาศฝุ่นควันภาคเหนือ 11 มกราคม 2567

 



 เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ รู้สึกขอบคุณที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางตรวจติดตามงานแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษอากาศฝุ่นควันภาคเหนือ ในวันที่ 11 มกราคม 2567 นับเป็นครั้งที่ 3 ในระยะเวลาต่อเนื่องกัน แสดงออกถึงเจตจำนงทางการเมืองมุ่งมั่นลดบรรเทาและแก้ปัญหานี้ ทั้งยังมีข่าวความคืบหน้าที่รัฐบาลได้ส่งร่างกฎหมายพรบ.อากาศสะอาดให้กับรัฐสภาพิจารณาอย่างรวดเร็ว และ การเพิ่งอนุมัติงบกลางอุดหนุนให้กับหน่วยงานที่ยื่นขอเพิ่มเติมเข้าไป

 แต่อย่างไรก็ตาม วิกฤตปัญหานี้สะสมเรื้อรังมานาน ทั้งมีรายละเอียดซับซ้อนกว้างขวาง ยังมีประเด็นปัญหาอีกหลายประการที่เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนืออยากเห็นความคืบหน้า แต่ยังไม่มีข่าวสารออกมา กล่าวคือยังไม่เห็นความคืบหน้าในการเตรียมแก้ปัญหาไฟในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้ และรัฐบาลมีนโยบายให้ลดพื้นที่ไฟไหม้ใน 10 ป่าสงวนแห่งชาติลง 50%  กรณีนี้มีความซับซ้อนจากการถ่ายโอนภารกิจดูแลดับไฟป่าให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่น และงบประมาณอุดหนุนที่ไม่เพียงพอ ไม่ตรงความจำเป็นต้องใช้ นั่นเท่ากับว่า พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดไฟที่โล่งขนาด 1 ใน 3 ของไฟในประเทศไทยยังไม่มีเจ้าภาพที่เข้มแข็ง และชัดเจนที่จะจัดการดูแลพื้นที่ปัญหา  ทั้งนี้สถิติไฟไหม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 10 แห่งแรก ของปี พ.ศ.2566 รวมกันมีขนาดถึงกว่า 1 ล้านไร่ ที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์บรรเทาปัญหาไฟแปลงใหญ่ ก็ยังไม่เคยปรากฏข่าวสารความคืบหน้าในการเตรียมการใดๆ ออกมา

  ยังมีข้อกังขาไม่ชัดเจนในการบูรณาการแก้ปัญหาไฟแปลงใหญ่ตามนโยบายรัฐบาล ว่า ได้เกิดมีการประสานงานระหว่างกรมอุทยานฯ กับ จังหวัดเจ้าของพื้นที่ซึ่งก็มีแผนมาตรการของจังหวัดอยู่เดิมแบบไหน? อย่างไร ? เพราะไม่มีการแถลงสื่อสารออกมาให้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น การประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองจังหวัดแม่ฮ่องสอนครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่า มีข่าวสารนำเสนอถึงการแก้ปัญหาไฟแปลงใหญ่ในเขตจังหวัด ซึ่งมีป่าอนุรักษ์ 3 ป่า (อช.สาละวิน/ขสป.สาละวิน/ขสป.ลุ่มน้ำปาย และ ป่าสงวนแห่งชาติ 2 ป่า (ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย/ป่าแม่ปายฝั่งซ้าย) ที่จังหวัดควรจะบูรณาการแผนปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ/กรมป่าไม้ที่กำกับดูแลแบบไหน อย่างไร  การแถลงและสื่อสารในยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลเรื่องนี้ยังไม่คืบหน้านัก ในภาพรวม



-2-





  ขอให้รัฐบาลกำชับเรื่องการสื่อสารสถานการณ์ที่เป็นจุดอ่อนมายาวนาน เช่น การเปิดเผยแผนปฏิบัติการบริหารเชื้อเพลิง (ชิงเผา) ของรัฐ ที่ก่อนหน้านี้ หน่วยปฏิบัติมักจะปกปิด ไม่บอกกล่าวต่อสาธารณะ ทำให้สังคมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น มีไฟในป่าแต่ไม่มีข่าวสารออกมา อีกทั้งปรากฏว่า การชิงเผาบางแปลงในอดีตไม่ควบคุมดูแลให้ดี เกิดไฟไหม้ลาม ไม่ต่างจากการลอบเผาป่า ขอให้กำชับสั่งการให้หน่วยปฏิบัติและหน่วยสื่อสาร เปิดเผยข้อมูล พิกัด เวลา และผู้รับผิดชอบล่วงหน้าให้สาธารณะรับรู้ 

  เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือยังกังวลถึงแผนรับมือผลกระทบจากฝุ่นควันข้ามแดนในพื้นที่ชายแดนที่รุนแรงมากระดับวิกฤต ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว จังหวัดเชียงรายไม่สามารถประกาศพื้นที่ภัยพิบัติบรรเทาผลกระทบตามข้อเรียกร้องประชาชนอำเภอแม่สายได้เพราะไม่มีระเบียบรองรับ มาตรการบรรเทาผลกระทบที่รัฐดำเนินการในอดีตยังไม่เพียงพอ ทั้งนี้ขอรัฐบาลกรุณาเน้นย้ำเรื่องแผนบรรเทาผลกระทบในภาพรวมของทุกพื้นที่ เพราะข่าวสารด้านนี้ยังไม่ปรากฏมามากนัก

  ดังนั้น สภาลมหายใจภาคเหนือ จึงขอรัฐบาลกรุณาเร่งรัด ติดตาม และรับข้อกังวลทั้ง 4 ประการตามแถลงการณ์นี้ เพื่อจะลดบรรเทาผลกระทบและแก้วิกฤตปัญหานี้ต่อไป  ประชาชนในเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือพร้อมที่จะร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ และหนุนเสริมรัฐบาลรวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยฝ่าฟันวิกฤตปัญหานี้ร่วมกัน 



เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

10 มกราคม 2567

เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2567 16:29:13 น. (view: 7104)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง