News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

แพทย์ มช. เตือนประชาชนระวังยุงลายนำเชื้อไวรัสเดงกีก่อโรค ปัจจุบันพบโรคไข้เลือดออกระบาดตลอดทั้งปี ไม่ใช่แค่ช่วงฤดูฝน!



     จากรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ในปี พ.ศ. 2566 พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกจำนวนมาก ยันปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้ ย้ำให้ทุกครอบครัวป้องกันตนเอง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และฉีดวัคซีนป้องกันโรคหากไม่มีข้อห้าม



     รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี ปัจจุบันมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 ซึ่งในประเทศไทยพบการระบาดของไวรัสเดงกีทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 86) เป็น DEN-1 และ DEN-2 และมียุงลายเพศเมียเป็นพาหะนำโรค ในประเทศไทยพบยุงลาย 2 ชนิดหลักที่สามารถนำโรคไข้เลือดออกได้ คือ ยุงลายบ้านและยุงลายสวน ซึ่งยุงลายถือเป็นพาหะนำโรคสำคัญที่ทำให้โรคไข้เลือดออกสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกหลายๆ คน และเกิดการระบาดในชุมชนได้ โดยทั่วไปหากมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งแล้ว จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์นั้นตลอดชีวิต และสามารถข้ามไปป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่เหลือที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อนได้ชั่วคราว (ประมาณ 6-12 เดือน) ดังนั้นจึงสามารถเกิดการติดเชื้อและป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกซ้ำได้เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้การป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกซ้ำนั้น อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรง เช่น ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เกิดภาวะช็อค เลือดออกง่ายผิดปกติ หรือเสียชีวิต เป็นต้น



     จากรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี พ.ศ. 2566 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย จำนวน 158,705 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 239.86 ต่อประชากรแสนราย และผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก จำนวน 190 ราย คิดเป็นอัตราตาย 0.12 % ต่อประชากรแสนราย ซึ่งจากสถิติดังกล่าวพบว่าจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในปี พ.ศ. 2566 สูงกว่าปี พ.ศ. 2565 ถึง 3.5 เท่า



     สำหรับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งจากสถิติในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยจำนวนมากที่สุด ได้แก่ เด็กวัยเรียน อายุ 5-14 ปี รองลงมา คือ วัยเด็กเล็ก 0-4 ปี และวัยทำงานช่วงอายุ 15-24 ปี แต่สำหรับกลุ่มที่เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สุงอายุ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 55-64 ปี และ 65 ปีขึ้นไป



     อาการของโรคไข้เลือดออก จะมีไข้สูงเฉียบพลัน และไข้สูงลอยประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย  



     เนื่องจากปัจจุบันโรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษา ขอแนะนำให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของตนเองหรือคนในครอบครัว หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน และเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง อาจเกิดจากการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกได้ ดังนั้นไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ยาชุด ไดโครฟีแนก แอสไพริน มารับประทานเอง เนื่องจากมีผลทำให้เลือดง่ายผิดปกติ เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ และให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ ณ สถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย ประเมินอาการ และการดูแลรักษาที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว



     รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่สำคัญ แบ่งเป็น 3 แนวทาง ได้แก่ (1) การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด เช่น การทายาหรือโลชั่นกันยุง สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ก่อนออกจากบ้าน เป็นต้น (2) การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น การกำจัดแหล่งน้ำขัง และการใช้ทรายอะเบตเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลายและตัดวงจรการแพร่ระบาดของยุง เป็นต้น และ (3) การฉีดวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว 2 ชนิด โดยวัคซีนชนิดแรกสามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุ 6-45 ปี ที่เคยมีหลักฐานยืนยันการติดเชื้อไวรัสเดงกีหรือเคยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน และวัคซีนชนิดที่ 2 สามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุ 4-60 ปี ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีหรือป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน ทั้งนี้ประชาชนทั่วไปสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อขอทราบข้อมูลและรายละเอียดของวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกทั้ง 2 ชนิด เพิ่มเติมได้ หากมีความประสงค์จะฉีดวัคซีนดังกล่าว”  



ข้อมูลโดย : รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่



เรียบเรียง : นส.ธัญญลักษณ์ สดสวย 

ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 



ติดตามผ่านทาง Facebook : https://cmu.to/LnIqj



#ไข้เลือดออก #ยุงลาย #MedCMU #MedCMUในมือคุณ #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #สื่อสารองค์กรMedCMU

เขียนเมื่อ 03 กุมภาพันธ์ 2567 13:15:06 น. (view: 10336)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง