News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
สสจ.เชียงใหม่ แจงข้อมูลการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพ ย้ำประชาชนเฝ้าระวังตนเอง และหากมีอาการผิดปกติ ให้พบแพทย์ทันที
สสจ.เชียงใหม่ แจงข้อมูลการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพ ย้ำประชาชนเฝ้าระวังตนเอง และหากมีอาการผิดปกติ ให้พบแพทย์ทันที
นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง ข้อมูลการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน ใน 4 กลุ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ผิวหนังอักเสบ ตาอักเสบและกลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื่องรังแบบเฉียบพลัน โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รวบรวมข้อมูลจากผู้มารับบริการโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ( 1 มกราคม 2567 – 6 เมษายน 2567 ) เปรียบเทียบผู้ป่วย ปี 2566 และปี 2567 พบว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด มีผู้ป่วยมารับบริการ 57,714 ครั้ง ลดลงจากปีที่ผ่านมา 19,182 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 24.95 โรคผิวหนังอักเสบ 2,195 ครั้ง เพิ่มขึ้น 109 ครั้ง คิดเป็น ร้อยละ 5.23 โรคตาอักเสบ 2,502 ครั้ง เพิ่มขึ้น 107 ครั้ง คิดเป็น ร้อยละ 4.47 และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังชนิดเฉียบพลัน 2,691 ครั้ง ลดลง 409 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 13.19
สำหรับมาตรการจัดการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข(เชิงรุก) ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง โดยมีจำนวนกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ กลุ่มเด็ก(0-5 ปี) 101,837 ราย หญิงตั้งครรภ์ 3,339 ราย ผู้สูงอายุ 249,363 ราย กลุ่มผู้ป่วย(โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังชนิดเฉียบพลัน โรคหอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง) 16,143 ราย และได้ดำเนินการกิจกรรมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพและช่วยเหลือประชาชน แจกหน้ากากป้องกันฝุ่นและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ซึ่งผลการดำเนินงาน 225 ครั้ง (ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม-6 เมษายน 2567) มีผู้มารับบริการ 9,817 ราย กิจกรรมเยี่ยมบ้าน “เคาะประตูให้ความรู้ แจกหน้ากากสู้ฝุ่นPM2.5 ในชุมชน” ติดตามการเยี่ยมบ้านกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้ป่วยในชุมชนด้วยทีม 3 หมอ จำนวน 11,720 ราย แจกหน้ากาก ทั้งหมด 153,557 ชิ้น นอกจากนี้ ยังได้ ให้ทุกอำเภอเตรียมความพร้อมเรื่องการสำรองเวชภัณฑ์ยา /หน้ากากป้องกันฝุ่นสำหรับผู้ป่วย ให้บริการคลินิกมลพิษ เปิดให้บริการ 25 โรงพยาบาล มีผู้มารับบริการ จำนวน 410 ราย และคลินิกมลพิษออนไลน์ มีผู้มารับบริการ จำนวน 53 ราย จัดทำห้องลดฝุ่นสำหรับประชาชน ทั้งหมด 1,466 ห้อง(ภาครัฐ 1,408 ห้อง และภาคเอกชน 58 ห้อง) ห้องลดฝุ่นในสถานบริการสาธารณสุขครบ 100% และศูนย์พัฒนาเด็กในจังหวัดเชียงใหม่ 516 แห่ง ดำเนินการจัดทำห้องลดฝุ่นไปแล้ว 416 แห่ง ทั้งนี้ยังได้ ถ่ายทอดความรู้และประสานงาน อปท. ในการสนับสนุน มุ้งลดฝุ่นให้กับผู้ป่วยกลุ่มยากไร้ในพื้นที่ทุกพื้นที่ รวมถึงการบริการตรวจสุขภาพให้กับอาสาดับไฟ ก่อนออกปฏิบัติงาน โดยดำเนินการเสร็จสิ้นทั้ง 25 อำเภอ ผลการตรวจ 9,799 ราย พบว่า ผลปกติ 9,411 ราย และผลผิดปกติ 388 ราย
ทั้งนี้ ขอแนะนำให้ประชนดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว ในช่วงสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 มีปริมาณเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากปริมาณเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เพราะฉะนั้นการรู้วิธีรับมือที่ถูกต้องและปฏิบัติทันทีจะช่วยร่างกายไม่โดนฝุ่นพิษทำร้ายจนรุนแรง โดยขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ฝุ่นPM2.5 หมั่นทำความสะอาดบ้าน และโรงเรียนให้สะอาดห้องปลอดฝุ่น ควรปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นละออง พัดเข้ามาในบ้าน ใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นPM2.5 ทุกครั้งที่อยู่กลางแจ้ง เลี่ยงการออกนอกอาคารถ้าไม่จำเป็น หยุดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ถ้าจำเป็นต้องทำกิจกรรมในที่โล่งควรลดเวลาให้สั้นที่สุดและสวมหน้ากาก เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว คือกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยได้ง่าย ต้องหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากฝุ่นพิษได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น ๆ เฝ้าระวังสุขภาพ หากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก รีบพบแพทย์ทันที
เขียนเมื่อ 09 เมษายน 2567 11:09:26 น. (view: 10337)