News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
กกต.เชียงใหม่ ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเชียงใหม่ และ อบจ.เชียงใหม่ จัดสัมมนาการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นสมาชิกวุฒิสภา มีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก
เชียงใหม่ 25 เม.ย. – ที่ศูนย์ประชุม 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เมื่อเวลา 13.00 น. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมผู้สื่อข่าวเชียงใหม่ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดสัมมนาให้ความรู้หัวข้อ การเตรียมความพร้อมสู่การเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมี นายธัชชัย โกมลรัตน์ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเชียงใหม่ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การดำเนินงาน โดยมี นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา มาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษให้ความรู้กับผู้สนใจที่จะสมัคร สว. ในบทบาทหน้าที่ สว.ตามกฎหมายใหม่และนายนพดล สุยะ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ ให้ความรู้ในเรื่อง คุณสมบัติ กฎกติกาการเลือก สว. และเกี่ยวข้อง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจาก 20 กลุ่มอาชีพ และจากหน่วยงานต่างๆ จำนวนกว่า 100 คน
นายนพดล สุยะ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับการคัดเลือก สว.จะเป็นการคัดเลือกในกลุ่ม โดยมีประธาน คณะกรรมการ และอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือก ในส่วนของผู้สนใจก็สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมว่าตนเองมีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ 1.มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด 2.อายุต้องไม่ต่ำกว่า 40 ปี 3.มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่ผูกพันธ์อยู่ในอำเภอนั้น เช่น เกิดในอำเภอนั้นๆ หรือมีทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอนั้นๆ ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป หรือเคยเรียนอยู่ในสถานศึกษาของอำเภอนั้น และไม่ต้องไม่คุณสมบัติต้องห้าม 26 ข้อ ซึ่งการสมัครไม่ได้แบ่งเป็นจังหวัด แต่แบ่งเป็น 20 กลุ่มอาชีพ หากท่านที่สนใจในการสมัครก็สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หมายเลข 1444 หรือโหลดแอพพลิเคชัน SMART VOTE ได้ หรือต้องการร้องเรียน พบข้อสงสัย ก็สามารถแจ้งผ่านแอพพลิเคชันได้ โดยค่าสมัครท่านละ 2,500 บาท
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กล่าวว่า สว. ชุดแรกมีจำนวน 200 คน มาจากวิธีการ “เลือกกันเอง” จากกลุ่มผู้สมัครชิงตำแหน่ง สว. จากกลุ่มอาชีพต่างๆ ทั้ง 20 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีตัวแทน 10 คน ก็จะเห็นได้ว่าจะมีตัวแทนจากทุกสาขาอาชีพได้ สว. ก็จะมาจากผู้สมัครกันเอง แต่ละคนก็จะช่วยกันจับตาดูแต่ละกลุ่มแต่ละคนที่มีชื่อเข้ามา มาจากสายไหนเพราะปิดกันไม่ได้ ถ้ามาจากการเมืองก็จะปรากฎให้เห็น แต่ผมก็เชื่อว่าการเมืองจะไม่กล้าที่จะส่งตัวแทนเข้ามา แต่ต้องจับตาดูให้ดีว่ากลุ่มการเมืองจะมีการณรงค์ ประชาสัมพันธ์ มีข้อเสนออะไรต่างๆ ทำให้เกิดการรวมตัวกันแบบที่เอาเปรียบคนอื่นไหม ถ้าเอาเปรียบคนอื่นมันก็เป็นเรื่องทะเลาะกัน เราก็คุยกันตรงนี้ กระบวนการแต่งตั้งค่อนข้างยากที่จะเข้าสู่ตำแหน่ง สว.ได้ ซึ่งความยากตรงนี้ก็ยากกับทุกคน แต่ละคนจะประสบปัญหาเดียวกันว่าจะได้คะแนนเสียงมาได้อย่างไร หรือว่าใครจะเลือกตนเองให้มีเสียงชนะคนอื่น เพราะว่ากระบวนการที่จัดทำมีทั้งผู้นำเสนอระดับจังหวัด และระดับประเทศ แล้วก็ยังแบ่งออกเป็นช่วง พอลงคะแนนกันแล้วก็จะมีการเลือกไขว้ อีก บางช่วงให้เลือกตัวเองได้ บางช่วงก็ต้องเลือกแต่ผู้อื่น ซึ่งตรงนี้กลายเป็นความยากไม่เฉพาะบางคนแต่เป็นความยากของผู้สมัครทุกคน แต่อย่างไรก็ตามก็อาจจะมีคนตั้งกลุ่ม ต้องไปดูว่ามีการฮั้วกันหรือไม่ สร้างคะแนนเสียงกันหรือเปล่า เรื่องนี้ กกต.ก็ต้องทำหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบเรื่องพวกนี้ หากว่าผิดก็ต้องว่ากันไปตามผิด เพราะว่าเราต้องการที่จะให้ได้คนที่มีอิสระจริงๆ เข้ามา ต้องไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง
ทั้งนี้ปัจจุบันยังไม่แน่ใจว่า จะมีการบล็อกโหวตหรือฮั้วกันหรือไม่ แต่ถ้าจะมีคนทำผิดจริง ก็อาจจะมีแต่ส่วนน้อย ก็จะถูกจับผิดด้วยสายตาของคนทั้งประเทศและผู้สมัครกันเอง ต้องช่วยกันดูถ้ามีการบล็อกโหวต หรือฮั้ว ก็ต้องปรากฎร่องรอยหลักฐาน เพราะฉะนั้น กกต.ต้องเด็ดเดี่ยว เด็ดขาด ต้องกล้าที่จะตัดสินปัญหา ให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ถ้าเป็นการระดมคะแนน ว่าให้เลือกใคร เลือกกลุ่มไหน ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป กกต.ต้องเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2567 08:59:40 น. (view: 10338)