News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
ส้มสายน้ำผึ้งฝาง และลิ้นจี่จักรพรรดิฝาง เชียงใหม่ ได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว
นางสาวสุวปรียา ปัญญารักษา นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยภายในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์จังหวัดเชียงใหม่ ว่า จังหวัดเชียงใหม่นับว่าเป็นแหล่งผลิตไม้ผลที่สำคัญของประเทศ และมีศักยภาพ ในการสร้างรายได้ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งลิ้นจี่ของจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในประเทศ โดยมีพื้นที่ปลูก 35,091ไร่ ผลผลิตรวม 12,239 ตัน เป็นพันธุ์จักรพรรดิ 20,678 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 59 จะให้ผลผลิตในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคมของทุกปี และผลผลิตออกสู่ตลาดสูงที่สุดในเดือนมิถุนายน ด้านส้มสายน้ำผึ้งฝางมี 35,749 ไร่ ผลผลิตรวม 134,775 ตัน ให้ผลผลิตในช่วงเดือน พฤศจิกายน - เมษายน ของทุกปี และผลผลิตออกสู่ตลาดสูงที่สุดในเดือนมกราคม ซึ่งไม้ผลทั้ง 2 ชนิด ปลูกมากที่สุด ในอำเภอฝาง แม่อาย ไชยปราการ และในขณะนี้ส้มสายน้ำผึ้งฝาง และลิ้นจี่จักรพรรดิฝาง ได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลไม้ทั้ง 2 ชนิดนี้อีกด้วย
.
สำหรับ GI (Geographical Indication) หรือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือ เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจาก แหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจงคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ ดังกล่าว GI จึงเปรียบเสมือนแบรนด์ของท้องถิ่นที่บอกคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า
.
สืบเนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2564 ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าอนุรักษ์พื้นถิ่น จึงได้คัดเลือกสินค้าที่สำคัญ คือ ลิ้นจี่จักรพรรดิฝาง และส้มสายน้ำผึ้งฝาง จากนั้นในปี 2566 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ลงพื้นที่ ร่วมมือกับจังหวัดเชียงใหม่ ผลักดันสินค้าทั้ง 2 รายการนี้ให้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ส่งผลให้เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศ ให้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ให้แก่ผลไม้ทั้ง 2 ชนิด ซึ่งการขึ้นทะเบียนดังกล่าว จะช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่เพิ่มรายได้ ยกระดับสินค้าท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่งเสริมและควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคและขยายช่องทางการตลาด เพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรได้อีกประมาณร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 40 อีกด้วย
.
**********************
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ : ภาพ-ข่าว
18 มิถุนายน 2567
เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2567 09:03:39 น. (view: 10342)