News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

รพ.สวนปรุง แนะเลิกสุราที่ถูกต้องควร “ลด” ก่อน “งด” เชิญชวนลงนามปฏิญาณตนทางออนไลน์งดเหล้าและเข้าสู่ระบบบำบัดรักษา เนื่องใน “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” 2567 

19 กรกฏาคม 2567 นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง  มอบหมายให้ พญ.อทิตยาพร แก้ววรรณ จิตแพทย์ ประธานคณะอนุกรรมการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตจากแอลกอฮอล์ นำบุคลากรจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องใน “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” (วันเข้าพรรษา 20 กรกฎาคม 2567) โดยเชิญชวนบุคลากรและประชาชนร่วมลงนามปฏิญาณตนทางออนไลน์ งด ลด ละ เลิกเหล้า และเข้าสู่ระบบบำบัดรักษา เพื่อการมีสุขภาพที่ดี นำไปสู่การเลิกเหล้าตลอดชีวิต ทาง QR Code หรือทางเวบไซด์ www. noalcohol.ddc.moph.go.th ตั้งแต่วันนี้ถึง 17 ตุลาคม 2567 



นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน กล่าวว่า สุรามีผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกายเกือบทุกระบบ เป็นสาเหตุของโรคกว่า 60 โรค เช่น มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ เบาหวาน โรคเกาต์ กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม ความดันโลหิตสูง ภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ภูมิต้านทานลดลง ฯลฯ ที่เห็นผลกระทบชัดเจน คือ กลุ่มโรคทางระบบประสาทส่วนกลางและสมอง เช่น โรคสมองเสื่อม โรควิกลจริต โรคลมชัก นอนไม่หลับ หูแว่ว ประสาทหลอน โรคซึมเศร้า กลัว หวาดระแวง  การดื่มสุราจึงมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตแทบทุกรูปแบบและปัญหาเหล่านี้ก็ดูเหมือนเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ 



การดื่มสุรามาเป็นระยะเวลานานก่อให้เกิดภาวะติดสุรา การตัดสินใจงดดื่มสุราจะทำให้เกิดอาการถอนพิษสุรา บางคนอาจมีอาการไม่มาก มีเพียงอาการมือสั่น เหงื่อออก กระวนกระวาย นอนไม่หลับ หลายคนอาจมีอาการรุนแรงตามมาในวันที่สามหรือวันที่สี่ของการหยุดดื่มทำให้เกิดอาการเพ้อ สับสน หูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง หลงผิด หรือเกิดอาการชัก หมดสติได้ โดยหลักการเลิกสุราด้วยตนเองที่ถูกต้องนั้นควร “ลด” ก่อน “งด” ค่อย ๆ ลดปริมาณการดื่มลงทีละน้อย เพื่อไม่ให้เกิดอาการขาดสุรารุนแรง และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ 



พญ.อทิตยาพร แก้ววรรณ แนะ 7 เช็คลิสต์ว่าคุณติดสุราหรือยัง? โดยดูว่ามีอาการ 3 ข้อ ใน 7 ข้อนี้หรือไม่ คือ 1.ต้องดื่มสุรามากกว่าที่เคยดื่มมา จึงจะเมาเท่าเดิม 2.มีอาการมือสั่น เหงื่อออก ใจไม่ดี เมื่อเว้นช่วงในการดื่ม 3.มีการดื่มในปริมาณที่มากกว่าปริมาณที่ตั้งใจไว้ก่อนดื่ม 4.พยายามเลิกดื่มหลายครั้งแต่ก็ยังคงมีการดื่มอยู่ 5.แต่ละวันมีความคิดถึงการดื่มสุราอยู่เนืองๆ 6.ได้รับการตักเตือนว่ามีความบกพร่องในการทำงาน 7.ยังคงดื่มอยู่แม้จะพบว่ามีความผิดปกติของร่างกายเกิดขึ้นแล้ว



การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา เป็นกิจกรรมที่ดีและถือเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงหรือเริ่มทำสิ่งดี ๆ ให้กับตนเองและครอบครัว  แต่สำหรับท่านที่มีอาการติดสุราแล้วควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะเริ่มงดหรือหยุดดื่มสุรา เพราะแพทย์สามารถให้ยารับประทานเพื่อลดอาการขาดสุรารุนแรงได้ ทำให้ผู้ที่ต้องการ “งด”เหล้าช่วงเข้าพรรษาได้อย่างที่ตั้งใจ เพื่อให้ตนเองปลอดภัย ครอบครัวมีความสุข นำไปสู่การเลิกเหล้าตลอดชีวิต

เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2567 16:49:59 น. (view: 9811)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง