News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
บสย. เร่งฟื้น SMEs ม.ค. - มิ.ย. 67 ค้ำแล้ว แตะ 19,000 ล้านบาทได้สินเชื่อใหม่ 45,440 ราย จ้างงาน 168,762 ตำแหน่ง มั่นใจ “บสย. SMEs ยั่งยืน” 5 หมื่นล้าน หนุนแบงก์ปล่อยสินเชื่อ
บสย. เร่งฟื้น SMEs ม.ค. - มิ.ย. 67 ค้ำแล้ว 18,946 ล้านบาท ชูแผนครึ่งปีหลัง เร่งค้ำ ต่อเนื่อง มั่นใจ “บสย. SMEs ยั่งยืน” ครึ่งปีหลัง ช่วย SMEs ได้สินเชื่อกว่า 30,000 ราย มั่นใจมาตรการรัฐ “ฟรีค่าธรรมเนียม 2-4 ปีแรก” หนุนแบงก์ปล่อยสินเชื่อ
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงาน บสย. ครึ่งปีแรก (ม.ค. - มิ.ย. 2567) เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งการค้ำประกันสินเชื่อ การช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ การรักษาการจ้างงาน รวมทั้ง มาตรการการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ช่วยลูกหนี้ แก้หนี้ยั่งยืน และการยกระดับองค์กรสู่ SMEs Gateway
โดยผลงานค้ำประกันสินเชื่อ ม.ค. - มิ.ย. 67 ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 45,440 ราย เป็นกลุ่มรายย่อยหรือ Micro ในสัดส่วนถึง 94% ค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ย 80,000 บาทต่อราย ส่วนอีก 6% เป็นกลุ่ม SMEs ค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ย 5.31 ล้านบาทต่อราย วงเงินอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ ราว 18,946 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 168,762 ตำแหน่ง สร้างสินเชื่อในระบบ 19,610 ล้านบาท และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 76,771 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่เป็นมาตรการรัฐ และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ บสย. พัฒนาเอง ได้แก่
1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) วงเงิน 9,511 ล้านบาท สัดส่วน 50% ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 1,532 ราย (สัดส่วนวงเงินค้ำประกันสูงสุด)
2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อดำเนินการโดย บสย. จำนวน 5,126 ล้านบาท สัดส่วน 27% (รวม 4 โครงการย่อย ได้แก่ รายสถาบันการเงินระยะ 7 (BI7) / โครงการ PGS Renew / Smart Plus & Top up และ RBP ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 2,391 ราย
3.โครงการตามมาตรการรัฐ จำนวน 4,309 ล้านบาท สัดส่วน 23% ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 41,568 ราย (ค้ำประกันจำนวนรายสูงสุด)
สำหรับประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1. ภาคบริการ 27.5% 2. การผลิตสินค้าและการค้าอื่น ๆ 13.5% และ 3. อาหารและเครื่องดื่ม 9.6% ซึ่งทั้ง 3 หมวดครองสัดส่วนค้ำประกัน 51% หรือราว 9,600 ล้านบาท ขณะที่ลำดับที่ 4-6 ได้แก่ สินค้าอุปโภค-บริโภค 9.5% อุตสาหกรรมยานยนต์ 8.5% และภาคเกษตรกรรม 8.2% ครอบคลุมทุกภูมิภาคของไทย คิดเป็นสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อ เขตกรุงเทพ-ปริมณฑล 40% และภูมิภาค 60% ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18% ภาคใต้ 13% ภาคเหนือ 12% ภาคตะวันออก 9% ภาคกลาง 5% และภาคตะวันตก 3%
นอกจากนี้ บสย. ยังประสบความสำเร็จในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อที่ถูกเคลม ด้วยการประนอมหนี้ผ่านมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (TDR) “บสย. พร้อมช่วย” (มาตรการ 4 สี ม่วง เหลือง เขียว และ ฟ้า) โดยมีลูกหนี้ บสย. ได้รับการประนอมหนี้ ระหว่าง ม.ค. – มิ.ย. 2567 ดังนี้
1.ลูกหนี้ บสย. ที่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (TDR) ณ ม.ค.-มิ.ย. 67 จำนวน 1,792 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 1,071 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้กลุ่มสีเขียว ที่ยังมีศักยภาพในการชำระคืนเงินต้นบางส่วนแต่ต้องการปลอดดอกเบี้ย ในสัดส่วนถึง 78%
**ยอดสะสม SMEs ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และได้รับการประนอมหนี้ตั้งแต่ เม.ย. 2565 – มิ.ย. 2567 รวมกว่า 15,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 7,000 ล้านบาท**
2.ลูกหนี้ บสย. เข้าร่วมมาตรการ “ปลดหนี้” (สีฟ้า) จำนวน 100 ราย
**มาตรการปลดหนี้ เปิดใช้เมื่อ ม.ค. 2567 เป็นมาตรการช่วยลูกหนี้กลุ่มสีเขียวต่อเนื่องที่ผ่อนชำระดี 3 งวดติดต่อกัน และต้องการปลดหนี้ โดย บสย. ลดเงินต้นให้ 15% **
“ผลสำเร็จจากมาตรการช่วยลูกหนี้แก้หนี้ยั่งยืน โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มาจากการพัฒนาโมเดลที่ยืดหยุ่น รองรับความสามารถในการชำระหนี้ 3 ระดับ (ม่วง เหลือง เขียว) ช่วยลูกหนี้ ตัวเบา ลดต้นทุนทางการเงิน “ตัดต้นก่อนตัดดอก” และ “ดอกเบี้ย 0%” โดยมีลูกหนี้กลุ่มที่ยังจ่ายไหวแต่ต้องการปลอดดอก (สีเขียว) 78% ลูกหนี้กลุ่มที่จ่ายไหวเพียงบางส่วน (สีเหลือง) 14% และลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง (สีม่วง) 8% ขณะที่ ลูกหนี้ “ปลดหนี้” (สีฟ้า) สามารถปลดหนี้สำเร็จ เดินหน้าธุรกิจต่อไปได้กว่า 100 รายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่ง บสย. ตั้งเป้าช่วยเหลือลูกหนี้ปลดหนี้ อีกกว่า 100 ราย” นายสิทธิการ กล่าว
บสย. เร่งสยายปีกขับเคลื่อนเชิงรุก ครึ่งปีหลัง
นายสิทธิกร กล่าวว่า การดำเนินงานครึ่งปีหลัง บสย. วาง 3 เป้าหมาย พร้อมเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ ทั้งกลุ่มเปราะบาง กลุ่มธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่สตาร์ทอัพ และกลุ่มธุรกิจ 8 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล IGNITE Thailand
1.ขับเคลื่อนโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ยั่งยืน (PGS 11 ) วงเงิน 50,000 ล้านบาท ร่วมกับ 18 ธนาคารพันธมิตร โดยกระทรวงการคลังช่วยลดภาระต้นทุน SMEs การเงิน จ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการ 1-4 ปีแรก และพิเศษสุด สำหรับผู้ประกอบการกลุ่ม SMART GREEN ที่ดำเนินกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ESG และ กำลังปรับธุรกิจสู่ สังคม Carbon ต่ำ บสย. ฟรี ค่าธรรมเนียม 4 ปีแรก พร้อมลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันลงอีก 0.25% เหลือ 1.5% ต่อปี จะเป็นกลไกการขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งเป้าทั้งโครงการ ช่วย SMEs 77,000 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 200,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินกว่า 60,000 ล้านบาท และรักษาการจ้างงาน 550,000 ล้านบาท
“ขณะนี้มีธนาคารเริ่มทยอยส่งคำขอค้ำประกันสินเชื่อมาแล้ว คาดว่า ภายในสิ้นปี 2567 กลไกค้ำประกันสินเชื่อ จากโครงการ “บสย. SMEs ยั่งยืน” จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ไม่น้อยกว่า 46,000 ราย และสร้างสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินกว่า 30,000 ล้านบาท ”
2.ตั้งเป้าช่วยลูกหนี้ SMEs และ Micro SMEs ที่ถูกเคลม เข้าร่วมมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นเม็ดเงินปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้มาตรการ 3 สีจำนวน 2,500 ล้านบาท หรือราว 4,000 ราย และสนับสนุนช่วยลูกหนี้ “ปลดหนี้” โดย บสย. ลดเงินต้น 15% คาดว่าจะมีลูกหนี้ร่วมปลดหนี้สะสมรวมมากกว่า 200 ราย
3.ตั้งเป้าขยายเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรพันธมิตร ตามเป้าหมาย “บสย. SMEs Gateway” เชื่อมโยง ผู้ประกอบการและเครือข่ายสนับสนุนองค์ความรู้ทางการเงิน โดยศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs และเข้าถึงเครือข่ายพันธมิตรผ่านช่องทาง LINE OA : @tcgfirst เพื่อเตรียมพร้อมผู้ประกอบการก่อนขอสินเชื่อ และการค้ำประกันสินเชื่อ โดยในช่วง 6 เดือนแรก บสย. ได้ขยายเครือข่ายพันธมิตร เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ 9 องค์กรใหญ่ ได้แก่
1.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โครงการ “ดีพร้อม ส่งเสริม SMEs เข้าถึงแหล่งทุน” 2. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โครงการ “DPU สร้างธุรกิจสร้างมืออาชีพ” 3.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน กลุ่มสตาร์ทอัพ 4.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ในการร่วมกันพัฒนาองค์กร 5.บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด “โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ไทย” 6.มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สูงวัย สร้างผู้ประกอบการสูงวัย” 7.บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี่ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ค้ำประกันสินเชื่อแฟรนไชส์ “กาแฟพันธุ์ไทย” 8.การไฟฟ้านครหลวง ร่วมยกระดับธุรกิจด้วยการใช้พลังงานสะอาด และ 9.กองทุน TED Fund
เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2567 15:35:16 น. (view: 9878)