News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ธปท. สภน.) ได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ "เสริมศักยภาพ SMEs เพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ"

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ธปท. สภน.) ได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ "เสริมศักยภาพ SMEs เพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ"



เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ ธปท. สภน. จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ และประชาชนในภาคเหนือได้รับทราบแนวทางการเสริมแกร่งทางการเงินเพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ จากเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างมุมมองของผู้ประกอบการ SMEs และสถาบันการเงิน เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 250 คน

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่ารูปแบบงานสัมมนาปีนี้ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทของสำนักงานภาคเหนือที่มีความใกล้ชิดและต้องการตอบโจทย์สำคัญของพื้นที่ ที่ผ่านมาทีมงานภาคเหนือได้รับเสียงสะท้อนจาก SMEs ในพื้นที่ว่ามีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อ ขณะที่ SMEs มีความสำคัญ ทั้งในมิติจำนวนสถานประกอบการ และการสร้างงาน หากต้องการให้ประเทศเติบโต แก้ความเหลื่อมล้ำก็ต้องสร้างโอกาสให้ SMEs เติบโต ดังหัวข้องาน “เสริมศักยภาพ SMEs เพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ” การจัดสัมมนาครั้งนี้ ธปท. จึงมีบทบาทเสมือนการสร้างถนนเชื่อม SMEs และสถาบันการเงิน ให้เข้าใจความคาดหวังระหว่างกันและขยับเข้าใกล้กันมากขึ้น รวมทั้งให้ SMEs เห็นทางเลือกในการปรับตัวเพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งงานสัมมนาในปีนี้มีการลงมือทดลองปฏิบัติจริงในลักษณะคลินิก ที่ใช้เครื่องมือให้ SMEs ประเมินตนเองเพื่อหาทางปิดจุดอ่อนได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของ SMEs ให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

สำหรับการสัมมนาหัวข้อ “แบงก์ชาติภาคเหนือกับการเสริมศักยภาพ SMEs” โดย นางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส คุณศรันยา อิรนพไพบูลย์ และนางสาวปราณี จิระกิตติเจริญ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธปท. สภน. ได้ฉายภาพว่า ภาคเหนือมีธุรกิจรายจิ๋ว (Micro SMEs ที่มีการจ้างงาน 1-5 คน) มากถึง 91% ธุรกิจเหล่านี้ต้องอาศัยเงินทุนตัวเอง และเครดิตการค้าเป็นหลักในการทำธุรกิจ รวมทั้งมีความสามารถในการเพิ่มรายได้ที่จำกัด และแนวโน้มความสามารถในการทำกำไรและชำระหนี้มีทิศทางด้อยลง ทำให้เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก มีต้นทุนดอกเบี้ยสูง และยังมี SMEs ส่วนหนึ่งที่มีศักยภาพในการทำกำไร แต่ยังไม่มีสินเชื่อ 

จากงานศึกษาที่ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับ SMEs ใน 4 จังหวัด (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และพะเยา) พบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่าง SMEs 47% ยังไม่ได้ใช้สินเชื่อ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ (1) กลุ่มไม่รู้ เช่น ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นคุยกับสถาบันการเงินอย่างไร ไม่รู้จักผลิตภัณฑ์สินเชื่อ (2) กลุ่มไม่แน่ใจ เช่น คิดว่าตัวเองอาจจะไม่มีคุณสมบัติพอที่จะกู้ได้ และ (3) กลุ่มถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อ เนื่องจากมีประวัติค้างชำระ ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ อย่างไรก็ดี หากกลุ่มที่มีศักยภาพได้รับการเสริมความรู้ทางการเงินที่ตรงจุดก็จะเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยได้นำเสนอ 3 ตัวช่วยสำคัญที่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด กล่าวคือ แบบทดสอบตนเองในการประเมินโอกาสในการขอกู้ ศูนย์รวบรวมผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับ SMEs และศูนย์รวบรวมเครื่องมือด้านการเงิน นอกจากนี้ ธปท. สภน. ได้จัดทำโครงการคลินิกเสริมแกร่งการเงิน SMEs ซึ่งเป็นโครงการเชิงปฏิบัติการนำร่อง โดยได้รับความร่วมมือจากธนาคารกสิกรไทย และธนาคารออมสิน  สำหรับ SMEs ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการจะได้รู้จักตนเองผ่านการทำแบบทดสอบในการประเมินคุณสมบัติเบื้องต้นในการยื่นขอกู้ โดย SMEs กลุ่มที่สามารถผ่านเกณฑ์คุณสมบัติสามารถเข้าสู่กระบวนการขอสินเชื่อกับธนาคารได้ ซึ่งหากมีความพร้อมก็จะได้รับสินเชื่อ แต่หากยังไม่มีความพร้อมก็จะต้องพัฒนาปิดจุดอ่อนก่อนกลับไปยื่นขอสินเชื่อใหม่ เช่นเดียวกับกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติแต่แรก ก็ต้องพัฒนาปิดจุดอ่อนเช่นกัน โดยสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือเสริมทักษะต่าง ๆ ซึ่ง ธปท. สภน. ได้รวบรวม link ไว้ให้ในเอกสารประกอบการสัมมนา รวมทั้งสามารถขอคำปรึกษาได้ฟรีจาก FA Center ของ บสย. และหมอหนี้ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการขอสินเชื่อกับธนาคาร 

ช่วงที่ 3 หัวข้อ “แบงก์ชาติกับการส่งเสริม การเข้าถึงแหล่งเงินทุน” โดย น.ส. สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย นำเสนอภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังทรงตัวในระดับสูง และมีครัวเรือนบางส่วนต้องใช้สินเชื่ออุปโภคบริโภคเพื่อทำธุรกิจ รวมทั้งมีปัญหาหนี้ต้องเร่งแก้ไขในหลายกลุ่ม ธปท. จึงออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม กำหนดให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดูแลลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ เมื่อเป็นหนี้มีปัญหา มาตรการนี้ ไม่ได้ทำให้สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อตามที่มีความเข้าใจผิดกัน โดยเน้นส่วนสำคัญที่การแก้หนี้เดิมและหนี้เรื้อรัง ส่วนหนี้ใหม่เป็นเพียงการกำหนดให้เจ้าหนี้ต้องประเมินความสามารถในการชำระหนี้ให้ลูกหนี้มีเงินเหลือสำหรับชีวิตประจำวัน เพราะหากไม่มีเลย ลูกหนี้กู้ไปก็จะกลายเป็นหนี้เสีย สำหรับ SMEs ที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก เนื่องจากผลประกอบการไม่แน่นอน ประวัติข้อมูลทางการเงินไม่เพียงพอ ขาดหลักประกัน รวมทั้งมูลค่าสินเชื่อมีขนาดเล็ก ทำให้มีต้นทุนดำเนินงานสูง แนวทางแก้ปัญหาคือการผลักดันให้มี (1) กลไกค้ำประกันเครดิตที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยรองรับความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ SMEs (2) ข้อมูลประกอบการพิจารณาที่ครบถ้วนขึ้น โดยการเปิดกว้างให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูล (open data) ที่ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิส่งข้อมูลตนเองให้แก่ผู้ให้บริการรายอื่นได้ จะช่วยให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกขึ้น ด้วยต้นทุนที่สอดคล้องกับความเสี่ยง

ช่วงที่ 4 เสวนาหัวข้อ “พลิกความท้าทายเป็นโอกาส ต่างมุมมองการเข้าถึงสินเชื่อ” จากผู้ประกอบการ SMEs และสถาบันการเงิน 3 ท่าน ได้แก่ นายธนพงศ์ วงศ์ชินศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพนกวินเอ็กซ์ ให้ความเห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มต้นธุรกิจด้วย passion แต่ยังขาดความรู้ด้านการเงินและการทำธุรกิจ จึงควรมีการปลูกฝังพื้นฐานการทำธุรกิจและการเงินในระบบการศึกษา และอยากให้สถาบันการเงินให้ความรู้ถึงวิธีการพิจารณาสินเชื่อ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และหากถูกปฏิเสธสินเชื่อควรให้คำแนะนำว่าต้องปรับปรุงอย่างไร และความแตกต่างของ SMEs ที่อาจจะไม่สามารถใช้เกณฑ์พิจารณาสินเชื่อเดียวกันได้ (one size fit all) รวมทั้ง ต้องการให้เพิ่มการประชาสัมพันธ์โครงการด้านการเงินทั้งหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน เพื่อเปิดโอกาสให้ SMEs ได้เข้ามาเรียนรู้ และสร้างแรงจูงใจให้พัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ คุณณวิสาร์ มูลทา ผู้ก่อตั้ง I Love Flower Farm มองว่า การสร้างตัวตนให้มีแบรนด์ที่ลูกค้าจำได้ จัดทำแผนธุรกิจที่ชัดเจน ให้ความสำคัญกับระบบการเงินหลังบ้านเพื่อให้มีหลักฐานทางการเงิน และมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงและลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต จะช่วยเพิ่มความสามารถในการกำหนดราคา ที่ผ่านมาสถาบันการเงิน (ธ.ก.ส.) เป็นพี่เลี้ยง ช่วยสนับสนุนสินเชื่อและสร้าง connection กับธุรกิจอื่นและหน่วยงานวิจัยภาครัฐ ทำให้ธุรกิจเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน คุณพิภวัตว์ ภัทรนาวิก รองผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสายงานร่วม ธนาคารกสิกรไทย เปิดมุมมองของสถาบันการเงินถึง 4 ปัจจัยหลักที่ใช้พิจารณาสินเชื่อ ได้แก่ (1) คุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ ลูกค้าต้องรักษาประวัติไว้ให้ดี และหลักฐานทางการเงินหรือการเดินบัญชีจะช่วยให้พิจารณาสินเชื่อง่ายขึ้น (2) แผนธุรกิจต้องชัดเจนและเป็นไปได้ รวมทั้งคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น (3) กระแสเงินสด เป็นปัจจัยสำคัญที่ธนาคารใช้คำนวณวงเงินกู้และค่างวด ในทางปฏิบัติสำคัญกว่าการทำกำไรหรือขาดทุน (4) หลักประกัน สถาบันการเงินมองว่าเป็นการแสดงความตั้งใจในการรักษาและต่อยอดธุรกิจ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การค้ำประกันหนี้ ทั้งนี้ การพิจารณาสินเชื่อ SMEs รายใหญ่และรายเล็กมีความแตกต่างกัน รายเล็กไม่มีงบการเงินและเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วนเท่ารายใหญ่ ธนาคารจะใช้การให้คะแนน (credit scoring) และเทียบเคียงกับค่ากลางของธุรกิจเดียวกันเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา

ช่วงสุดท้าย นางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สภน. กล่าวสรุปการสัมมนาว่า การยกระดับศักยภาพ SMEs ในภาคเหนือจำเป็นต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ซึ่ง ธปท. สภน. พร้อมจะทำงานร่วมกับพันธมิตร และเป็นข้อต่อที่ใกล้ชิดกับภาคประชาชนและธุรกิจในพื้นที่  ซึ่งบทบาทหนึ่งของ ธปท. ในภูมิภาค คือ รับข้อมูลจากพื้นที่ไปยังส่วนกลาง ผ่านการจับชีพจรเศรษฐกิจ งานศึกษาและวิเคราะห์ต่าง ๆ และทำความเข้าใจเชิงลึกถึงความเป็นอยู่ของคนและธุรกิจภาคเหนือ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับดำเนินนโยบายของ ธปท. และขยายผลมาตรการของ ธปท. ให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะการเสริมสร้างทักษะและภูมิคุ้มกันทางการเงิน ทั้งการแก้หนี้อย่างยั่งยืน การเตือนภัยทางการเงิน รวมถึงการดูแลให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ทั้งนี้ ธปท. สภน. ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีมาโดยตลอด และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือในการผลักดันและเสริมศักยภาพ SMEs อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อความกินดีอยู่ดีของชาวเหนือต่อไป

เขียนเมื่อ 09 สิงหาคม 2567 16:44:23 น. (view: 10337)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง