News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
กรมโยธาฯ เดินหน้าโครงการพนังคอนกรีตกั้นน้ำปิง ฝั่งตะวันออก ชาวบ้าน-ผู้ทรงฯ คณะกรรมการลุ่มน้ำปิง ค้านหนัก ชี้ไม่ตอบโจทย์-แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ แนะปรับปรุงลำน้ำปิงแทน
กรมโยธาฯ เดินหน้าโครงการพนังคอนกรีตกั้นน้ำปิง ฝั่งตะวันออก ชาวบ้าน-ผู้ทรงฯ คณะกรรมการลุ่มน้ำปิง ค้านหนัก ชี้ไม่ตอบโจทย์-แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ แนะปรับปรุงลำน้ำปิงแทน
วันที่ 15 สิงหาคม 2567 ที่ศาลาอเนกประสงค์วัดเกตการาม ต.วัดเกต อ.เมืองเชียงใหม่ กรมโยธาธิการและผังเมือง โดย บริษัท โปรเกรสเทคโนโลยีคอนซัลแท็นส์ จํากัด บริษัทที่ปรึกษาโครงการงานศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียดระบบป้องกันน้ำท่วมและระบบน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนลุ่มน้ำภาคเหนือ ระยะที่ 5 (พื้นที่ชุมชนเมืองเชียงใหม่ (ฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิง) และชุมชนต่อเนื่อง จังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งผู้แทนเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษาฯ นำเอกสารขนาด A4 ภาพแสดงทางเลือกแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำ ซึ่งเป็นรูปแบบการก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วมแบบต่างๆ รูปแบบก่อสร้างคันป้องกันโดยการยกถนนเจริญราษฎร์และถนนเชียงใหม่-ลำพูน การปรับปรุงรางระบายน้ำเดิมริมถนนเลียบทางรถไฟ การก่อสร้างท่อรวบรวมน้ำเสีย และการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ พร้อมกับรูปภาพสถานที่ต่างๆ ตลอดแนวแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก รวมทั้งสิ้น 3 แผ่น A4 พร้อมด้วยแบบสอบถามความคิดเห็นและความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งมีความยาวกว่า 12 หน้า โดยมีการจัดเจ้าหน้าที่มาสอบถามชาวบ้านและผู้ประกอบการย่านชุมชนวัดเกต
ทั้งนี้ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาฯ กล่าวในที่ประชุมว่า กรมโยธาธิการฯ ได้รับงบประมาณเพื่อศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน 5 พื้นที่ โดยเมืองเชียงใหม่และท่าวังตาล เป็นพื้นที่ถูกเลือกให้ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ยังเป็นช่วงการเก็บข้อมูลและสอบถามความต้องการจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การออกแบบ และนำกลับมาประชุมอีกครั้ง แต่หากประชาชนไม่ต้องการ ก็จะได้ย้ายงบประมาณไปดำเนินการที่อื่นต่อไป
ขณะที่ ประชาชนและผู้ประกอบการย่านชุมชนวัดเกตและชุมชนใกล้เคียงแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนต่อโครงการก่อสร้างพนังคอนกรีตหรือยกระดับถนนเจริญราษฎร์เพื่อเป็นแนวกั้นน้ำหากแม่น้ำปิงล้นตลิ่ง โดยผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความกังวลในหลายประเด็น อาทิ ความไม่ชัดเจนของรูปแบบโครงการที่มีเพียงภาพประกอบไม่กี่ภาพ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ นอกจากนี้ยังมีการวิจารณ์ว่าการสร้างกำแพงหรือยกระดับถนนจะทำลายทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน โดยยกตัวอย่างจากกรุงเทพมหานครที่ต้องเสริมตลิ่งอยู่เป็นระยะ
อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตคือ จำนวนผู้ตอบแบบสอบถามเพียงแค่ 18 คน ไม่สามารถสะท้อนความเห็นของคนทั้งชุมชนได้ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังระบุว่าโครงการลักษณะนี้เคยถูกนำเสนอมาแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2548 และถูกต่อต้านอย่างหนักจากชาวเชียงใหม่ที่ไม่ต้องการให้มีคลองส่งน้ำกลางเมือง แต่ในครั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองกลับนำโครงการดังกล่าวกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ทั้งๆ ที่ไม่มีหน่วยงานในจังหวัดเชียงใหม่ร้องขอให้มีโครงการดังกล่าว
นายชูโชค อายุพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลุ่มน้ำปิง แสดงความเห็นเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างพนังคอนกรีตริมแม่น้ำปิงเพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขตเมืองเชียงใหม่ โดยระบุว่าโครงการนี้เคยถูกผลักดันมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2549 หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2548 แต่ต้องล้มเลิกไปเนื่องจากการต่อต้านอย่างหนักจากชุมชนและชาวเชียงใหม่
ในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ ไม่เห็นด้วยกับการฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยชี้ให้เห็นว่าข้อดีเพียงอย่างเดียวของพนังคอนกรีตคือการป้องกันน้ำล้นตลิ่งตามระดับที่ออกแบบไว้ แต่กลับมีข้อเสียมากมาย เช่น ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมในระดับที่เกินจากการออกแบบ, กีดขวางการระบายน้ำจากตัวเมือง, และส่งผลกระทบต่อชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ นอกจากนี้ยังทำลายระบบนิเวศและทัศนียภาพซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ โดยแนะว่า แทนที่จะสร้างพนังคอนกรีต ควรปรับปรุงลำน้ำของแม่น้ำปิงให้สามารถรองรับน้ำได้มากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพระบบแจ้งเตือนภัย ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืนมากกว่า
เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2567 16:36:14 น. (view: 10340)