News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
เขตสุขภาพที่ 1 บูรณาการทีม MCATT ร่วมลงพื้นที่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ลดปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว
เขตสุขภาพที่ 1 บูรณาการทีม MCATT ร่วมลงพื้นที่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ลดปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว
MCATT บูรณาการภายใต้เขตสุขภาพที่ 1 ลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ทั้งนี้เตรียมดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะครอบครัวผู้สูญเสีย เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ลดปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว
นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมในพื้นที่น้ำท่วมภาคเหนือได้รับผลกระทบใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แพร่ น่าน และพะเยา ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระยะวิกฤตและฉุกเฉิน (ตั้งแต่เกิดเหตุ – 2 สัปดาห์) จากการทีทีม MCATT เขตสุขภาพที่ 1 ได้ลงพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์ ประเมินกลุ่มเสี่ยง พบว่าประชาชนได้รับผลกระทบมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตตามมาจำนวนมาก ซึงทีมได้ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นโดยใช้หลักการปฐมพยาบาลทางใจ (Psychological First Aid : PFA) โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเครียด วิตกกังวล เศร้า เสียใจ หรือมีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า ไปแล้วทุกราย แต่อาจยังไม่ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด จึงให้ทีมวางแผนบูรณาการการทำงานกับพื้นที่เพื่อประเมินสุขภาพใจ
นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่าระยะนี้ผู้ประสบภาวะวิกฤต ทั้งผู้สูญเสียหรือผู้รอดชีวิตจะได้รับช่วยเหลือหลั่งไหลเข้ามามากมาย ซึ่งทำให้เกิดกำลังใจว่าทั้งตนเอง ครอบครัวและชุมชนจะสามารถฟื้นตัวได้ ซึ่งทีมยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสำรวจข้อมูล สถานการณ์และความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาวางแผนในการให้ความช่วยเหลือได้ตรงกับความต้องการของผู้ประสบภาวะวิกฤตและประเมินคัดกรองภาวะสุขภาพจิตเพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงทั้งโดยเฉพาะครอบครัวผู้สูญเสีย เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ เน้นย้ำการปฐมพยาบาลด้านจิตใจ ซึ่งหากได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาทางด้านจิตใจทันทีหลังเหตุการณ์อย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตเรื้อรังหรือเจ็บป่วยทางจิตเวชลงได้
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมจากผลปฏิบัติงานดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบสะสม ณ วันที่ 25 ส.ค.67 ประเมินสุขภาพจิตรวม 7,404 ราย พบกลุ่มเสี่ยงสะสม 108 ราย แบ่งเป็น เครียด 105 ราย ซึมเศร้า 3 ราย ทีมได้มีการวางแนวทางการแบ่งกลุ่มผู้ประสบภาวะวิกฤต ที่มีความเสี่ยงต้องเฝ้าระวัง (Psychological Triage) เพื่อการติดตาม เป็น 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มเสี่ยงสูง (แดง) ได้แก่ ผู้บาดเจ็บ ญาติผู้เสียชีวิต ผู้ที่มีความคิดฆ่าตัวตาย กลุ่มเสี่ยงปานกลาง (เหลือง) ได้แก่ ผู้พิการ ผู้สูงอายุติดบ้านหรือติดเตียง ผู้มีประวัติใช้สารเสพติด ผู้มีประวัติการรักษาทางจิตเวช หรือผู้มีความเครียด กังวล ท้อแท้ สิ้นหวัง จนรบกวนการดำเนินชีวิต ในช่วง 2 สัปดาห์ โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงปานกลางขึ้นไป จะต้องได้รับการติดตามต่อในระยะหลังได้รับผลกระทบ ในส่วนกลุ่มเสี่ยงต่ำ/ไม่เสี่ยง (เขียว) ได้แก่ กลุ่มที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น กรณีพบกลุ่มเสี่ยงที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีความคิดทำร้ายตนเองให้ส่งพบบุคลากรทางการแพทย์ทันทีและติดตามต่อในระยะหลังได้รับผลกระทบ (2 สัปดาห์–3 เดือน) โดยทีมสหวิชาชีพประกอบด้วยจิตแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เภสัชกร นักกิจกรรมบำบัด ฯลฯ และวางแผนประเมินสถานการณ์เด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในสัปดาห์ต่อไป
ทั้งนี้ ทุกคนสามารถช่วยสังเกตและเฝ้าระวังดูแลจิตใจกันได้ ด้วยหลัก 3 ส. “สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง” พบเห็นคนรอบข้างหรือคนใกล้ชิด เหม่อลอย ปลีกตัวจากผู้อื่น ไม่สดใสร่าเริง สามารถเข้าพูดคุย ให้เขาระบายความในใจออกมา แสดงความรักความห่วงใยสัมผัสมือ โอบกอบ หากอาการยังไม่ดีขึ้น ประสานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หน่วยบรรเทาสาธารณภัยหรือกู้ชีพกู้ภัย โทร.1784 หรือ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อส่งต่อทีม MCATT โรงพยาบาลหรือสาธารณสุขในพื้นที่ต่อไป
ข้อมูลโดย ทีม EOC (Emergency Operation Center) เขตสุขภาพที่ 1
เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2567 13:03:07 น. (view: 10341)