News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
สสจ.เชียงใหม่ จับมือเครือข่าย หารือเตรียมการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุผู้ป่วยทางจิตจากยาเสพติดก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ระดมกำลังภาคีเครือข่าย ร่วมหารือเตรียมพร้อมฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ กรณีผู้ป่วยทางจิตหลอนยาเสพติด ก่อเหตุรุนแรง บุกโรงเรียนจี้เด็กเป็นตัวประกัน ในวันที่ 3 กันยายน นี้
.
วันนี้ (2 ก.ย. 67) ที่ ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเตรียมการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ กรณีมีผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากการใช้ยาเสพติดก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตามโครงการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต จากการใช้ยาเสพติดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงในพื้นที่ โดยจะมีการจำลองเหตุการณ์ผู้ป่วยทางจิตหลอนยาเสพติด บุกโรงเรียนจี้เด็กเป็นตัวประกัน ซึ่งจะมีการฝึกซ้อมแบบเสมือนจริงในวันที่ 3 กันยายน 2567 นี้ ที่ โรงเรียนโกวิทธำรง อ.เมืองเชียงใหม่
.
โดยในวันนี้เป็นการชี้แจงรายละเอียดความสำคัญของโครงการ พร้อมทั้งมีการแบ่งกลุ่มฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table Top Exercise) เพื่อร่วมกันหารือและจำลองการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานให้สัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดเหตุ ช่วงเผชิญเหตุ และช่วงหลังเกิดเหตุ เพื่อที่จะให้การฝึกซ้อมแบบเสมือนจริงที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้มีความสมจริง และเป็นประโยชน์ต่อการรับมือแก้ไขปัญหาของทุกภาคส่วนเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ร่วมฝึกซ้อมมีความรู้ มีประสบการณ์ และมีความพร้อมในการรับมือเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์จริงจากการที่มีผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากการใช้ยาเสพติดมาก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ภายใต้การดำเนินงานแบบบูรณาการ ทั้งการบัญชาการเหตุการณ์ การเข้าควบคุมเหตุการณ์ การประชาสัมพันธ์ในภาวะฉุกเฉิน การให้การช่วยเหลือทางการแพทย์ รวมถึงการให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ โดยเน้นในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิต ทั้งในส่วนของตัวประกันและผู้ก่อเหตุ
.
ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงพบผู้ก่ออาชญากรรมในหลายคดีมีเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และมีหลายรายเป็นผู้ที่มีอาการทางจิตจากการใช้ยาเสพติด ซึ่งมีลักษณะการก่อเหตุที่รุนแรง บางรายคลุ้มคลั่งทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกายบุคคลใกล้ชิด รวมถึงก่อเหตุสะเทือนขวัญรุนแรง ซึ่งจากรายงานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พบว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีบุคคลคลุ้มคลั่งที่รับแจ้งเหตุและนำส่งโดย 1669 จำนวน 21,006 ครั้ง และในปี 2566 มีเพิ่มขึ้นเป็น 22,855 ครั้ง โดยในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2565 พบจำนวน 216 ครั้ง และในปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 346 ครั้ง ซึ่งกรมสุขภาพจิตมีการคาดการณ์ว่าจะมีกลุ่มเสี่ยงคลุ้มคลั่งที่ยังไม่ได้รับการดูแลรักษาอีกถึง 125,994 ราย
.
*****************************
.
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ ... ภาพ / ข่าว
2 กันยายน 2567
เขียนเมื่อ 02 กันยายน 2567 16:26:46 น. (view: 9880)