News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
ม.แม่โจ้ ประสบความสำเร็จ ปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรม ต้นทุนถูก คุณภาพสูง เตรียมตัดช่อกัญชาช่อแรก15 มกราคมนี้
วันนี้ (6ม.ค. 63 )ที่ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ รศ.ดร. วีระพล ทองมา รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วย ดร.อำนวย ยศสุข นายกสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ นพ. มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และนพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผอ.รพ. มะเร็งอุดรธานี ผศ.พาวิน มะโนชัย รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ ศ.ดร. อาณัฐ ตันโช หัวหน้าโครงการผลิตดอกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าว ความสำเร็จโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาเพื่อทางการแพทย์ 12,000 ต้น ในระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการพืชเสพติดให้ปลูกกัญชา รุ่นแรกได้จำนวน 12,000 ต้น โดยใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้รับจากกรมการแพทย์ ชื่อพันธุ์อิสระ 01 (ISSARA 01) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีสาร CBD และ THC ระดับสมดุล และในวันที่ 21 ก.ย. 2 นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมาเยี่ยมชม และปลูกกัญชาต้นแรกในโรงเรือนอัจฉริยะ ณ ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
ทั้งนี้การปลูกกัญชารุ่นแรก 12,000 ต้นนั้น ได้ปลูกในโรงเรือนพื้นที่ 3,400 ตรม. โดยปลูกในระยะชิด ด้วยการจัดทรงต้น การจัดเตรียมธาตุอาหารพืชในระบบอินทรีย์ การจัดให้มีแสงปกติ และมีการเพิ่มระยะเวลาการให้แสงเพื่อยืดระยะเวลาการเจริญเติบโตเพื่อให้ลำต้นสมบูรณ์ก่อนมีช่อดอก การจัดสารชีวพันธ์ในการกำจัดศัตรูพืช เพื่อควบคุมโรคและแมลง และใช้วัสดุอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์ ในรูปของเหลวที่เน้นธาตุอาหารที่จำเป็นของกัญชาในระบบเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ และเน้นการกระตุ้นให้ออกดอกด้วยฉี่ไส้เดือนดินจากสายพันธ์ท้องถิ่นไทย ซึ่งผลิตจากศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
นอกจากนี้ การใช้กัญชาพันธุ์ไทยแท้และปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ ทำให้ได้ต้นกัญชาที่มีลักษณะที่สมบูรณ์ มีความสูงกว่ามาตรฐานและใช้เทคโนโลยีในการทำให้ต้นกัญชาที่ปลูกเป็นเพศเมียมากที่สุดและสามารถออกดอกประมาณ 8 ช่อต่อ 1 ต้น โดยแต่ละช่อจะมีน้ำหนักประมาณ 250 กรัมขึ้นไป จนถึง 1 กิโลกรัม และที่สำคัญคือ มี สาร CBD และ THC ที่มีสัดส่วนเท่ากันซึ่งเหมาะสมในการเอาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มากที่สุด โดยค่าใช้จ่ายในการปลูกต่อต้นเฉลี่ยต้นละ 600 บาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในขณะนี้
ทั้งนี้คาดว่าในการเก็บเกี่ยวกัญชาในการปลูกครั้งแรกนี้จะได้ผลผลิตดอกกัญชาสดไม่น้อยกว่า 10,000 กิโลกรัมหรือ 10 ตัน เพื่อส่งมอบให้กรมการแพทย์และองค์การเภสัชกรรม และในวันที่ 15 ม.ค. 63 นี้ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเดินทางมาตัดช่อกัญชาช่อแรกที่ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ด้วย
เขียนเมื่อ 06 มกราคม 2563 07:50:58 น. (view: 10336)